'สศอ.' เผยดัชนีMPI เดือน ธ.ค.66 หดตัว 6.27% ฉุดทั้งปีร่วง 5.11%
"สศอ." เผยดัชนี MPI เดือน ธ.ค. 2566 หดตัว 6.27% ฉุดทั้งปีหดตัวรวม 5.11% ลุ้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว หนุนดัชนีหลังจากนี้ปรับขึ้นต่อเนื่อง
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธ.ค. ปี 2566 อยู่ที่ 87.76% หดตัว 6.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ส่งผลให้ดัชนี MPI ปี 2566 หดตัว 5.11% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนธันวาคมอยู่ที่ 55.25% และทั้งปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ย 59.06% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ชะลอการผลิต อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 3.22 ขยายตัวต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 3 ซึ่งการกลับมาขยายตัว คาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนี MPI หลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมกราคม 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง” โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากปัจจัยภายในประเทศ จากดัชนีปริมาณสินค้านำเข้าของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยในประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังเป็นส่วนใหญ่ ทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณเฝ้าระวังลดลง การลงทุนภาคเอกชนของไทยยังคงทรงตัว
และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปรับเพิ่มเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งผู้นำของคู่ค้าสำคัญทั้ง อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงความผันผวนการเงินโลก และเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในปี 2566 หดตัวลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัว ในขณะที่การท่องเที่ยวที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องฟื้นตัว โดยอุตสาหกรรมเด่นที่ขยายตัวในปี 2566 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม น้ำตาล สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ น้ำมันปาล์ม และเส้นใยประดิษฐ์
“ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แต่เพื่อเป็นการยกระดับและขยายมูลค่าการส่งออกของสินค้าไทย ภาคการผลิตของไทยควรมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่โลกมีความต้องการบนพื้นฐานของศักยภาพที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ทั้งนี้ ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการส่งออกสินค้าพื้นฐานหรือแปรรูปขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าน้อย” นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.22% จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซหุงต้ม เป็นหลัก โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในปีก่อน
สายไฟและเคเบิลอื่น ๆ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.29 จากสายไฟฟ้า เป็นหลัก เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศ รวมถึงการส่งมอบตามคำสั่งซื้อของการไฟฟ้า
เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.28% เนื่องจากความต้องการใช้ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสินค้า ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษปรับลดลงจากปีก่อนเร่งคำสั่งซื้อให้มีมากขึ้น
ผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.80% จากแผ่นฟิล์มพลาสติก เป็นหลัก จากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามามากขึ้นหลังปีก่อนราคาสินค้าปรับสูงขึ้นตามต้นทุนเม็ดพลาสติก โดยปีนี้ราคาสินค้าปรับลดลงกระตุ้นคำสั่งซื้อให้มีมากขึ้น
เส้นใยประดิษฐ์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.85% จากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ และเส้นใยประดิษฐ์อื่น ๆ จากตลาดส่งออก เป็นหลัก โดยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มสิ่งทอ เป็นต้น