เกษตรปรับแผน โคบาลชายแดนใต้ เฟสแรกแจกเกษตรกร ตามหลักรัฐศาสตร์
ไชยา พิจารณาปรับแผน “โคบาลชายแดนใต้” เฟสแรก เร่งเพิ่มเกษตรกรเลี้ยงโคส่งออก ผลักดันเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนใต้ ฝาก ศอ.บต. ปรับแผนการดำเนินงานตามหลักรัฐศาสตร์ในระยะแรก แจกเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงปศุสัตว์
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกับ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ว่า
โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ได้แก่ เกษตร ประมง และปศุสัตว์ ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงมุ่งเป็นพื้นที่ครัวอาหารฮาลาลโลก ซึ่งทางภาคใต้มีต้นทุนและโอกาสในการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศมุสลิมได้จำนวนมาก
“จากการได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดปัตตานี มีเกษตรกรบางกลุ่มได้รับโคไม่ตรงปก ทาง ศอ.บต. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาโคไม่ได้มาตรฐาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน และนำมาปรับใช้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสำหรับภาพรวมโครงการ จึงขอฝาก ศอ.บต. ดูแลให้ไม่มีผลกระทบต่อโครงการระยะยาว”
รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาปรับแผนการดำเนินงานตามหลักรัฐศาสตร์ในระยะแรก เพื่อให้เกษตรกรที่มีความต้องการเลี้ยงปศุสัตว์ แต่ติดขัดหลักเกณฑ์บางประการสามารถรับเลี้ยงต่อไปได้ และค่อยเพิ่มความเข้มงวดในโครงการระยะถัดไป โดยให้ ศอ.บต. และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดคัดเลือกเกษตรกรให้ตรงตามหลักเกณฑ์การเข้าร่วมของโครงการ พร้อมมอบหมายกรมปศุสัตว์ดำเนินการจัดทำแผนส่งโคให้ตรงตามเวลาที่กำหนด
นอกจากนี้ ยังรับข้อเสนอแนะของผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (นางพาตีเมาะ สะดียามู) ในการวางแผนส่งออกและการสร้างโรงงานแปรรูปปศุสัตว์ภาคอุตสาหกรรม และภาคชุมชน เพื่อรองรับตลาดมุสลิมในพื้นที่ต่าง ๆ การจัดการโครงสร้างพื้นฐานของภาคใต้ ธนาคารโค รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้ยากไร้แต่มีความต้องการเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงจะสอบถามความคืบหน้าการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้กับกระทรวงอุตสาหกรรม และการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มเติม อีกด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกต ให้ทาง ศอ.บต. ช่วยตรวจสอบสัญญาของพี่น้องเกษตรกรก่อนรับโคจากผู้ประกอบการว่าโคมีลักษณะที่ถูกต้องตามคุณลักษณะ รวมถึงมีการจัดทำสัญญาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เพื่อลดปัญหาการแบกรับต้นทุนด้านอาหารของเกษตรกร และให้การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป