'เศรษฐา' ปลื้ม ไทย - ศรีลังกา ลงนาม FTA เปิดประตูการค้าไทยเชื่อม 'เอเชียใต้'
ไทย-ศรีลังกา ลงนามความร่วมมือหลายด้าน ยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง ผ่าน FTA ไทย-ศรีลังกา MOU การเดินอากาศ พัฒนาอัญมณี “เศรษฐา” ปลื้มเปิดประตูส่งออกเอเชียใต้สินค้าไทย เตรียมเพิ่มการบินเส้นสองประเทศในเส้นทาง กทม. – โคลัมโบทุกวันตั้งแต่มี.ค.67
Key points
- นายกรัฐมนตรีและคณะมีกำหนดเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการวันที่ 3 - 4 ธ.ค.นี้
- วันนี้นายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีศรีลังกาเป็นสักขีพยานลงนามความร่วมมือ 3 ฉบับ รวมทั้ง FTA สองประเทศ
- FTA ไทย-ศรีลังกา เป็นFTA ไทยกับต่างชาติฉบับที่ 15
- ความร่วมมือที่หารือกับศรีลังกายังครอบคลุม หลายด้านรวมทั้งการเพิ่มเที่ยวบินระหว่าง กทม.-กรุงโคลัมโบ
วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 16.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโคลัมโบ ซึ่งช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง) ณ ห้อง Chamber Hall สำนักประธานาธิบดีศรีลังกา กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นสักขีพยานร่วมกับนายรานิล วิกรมสิงเห (H.E. Mr. Ranil Wickremesinghe) ประธานาธิบดีศรีลังกา ในการลงนาม 3 ฉบับ ได้แก่
1) ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ศรีลังกา โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายกัจจกธุเค นลิน รุวันชีวะ เฟอร์นานโด (Hon. Kachchakaduge Nalin Ruwanjeewa Fernando)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การค้า และความมั่นคงทางอาหาร เป็นผู้ลงนามฝ่ายศรีลังกา
2) ร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศฉบับใหม่ระหว่างไทยและศรีลังกา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแทนที่และยกเลิกความตกลงฯ ฉบับที่ลงนามเมื่อวันที่ 24 กพ. 2493 โดยจะลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกด้านการค้า การบริการทางอากาศระหว่างทั้งสองประเทศ สิทธิทางการบิน ความปลอดภัย ศุลกากร ฯลฯ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยฝ่ายไทยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม และนายนิเลตตี นิมัล สิริปาละ เด ซิลวา (Hon. Niletthi Nimal Siripala De Silva) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่าเรือและการขนส่งทางทะเล เป็นผู้ลงนามฝ่ายศรีลังกา
3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ The Gem and Jewellery Research and Training Institute of Sri Lanka เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาอัญมณีและส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและแหล่งอัญมณี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมบุคลการที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย โดยมีนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และ นาย บี. จี. อาร์. ดับเบิลยู. กัมลัต (Mr. B. G. R. W. Gamlath) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฝึกอบรมอัญมณีและเครื่องประดับแห่งศรีลังกา เป็นผู้ลงนามฝ่ายศรีลังกา
หลังจากนั้น เวลา 16.20 น. ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องโถง (Banquet Hall) โดยนายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประธานาธิบดีและรัฐบาลศรีลังกา โดยการหารือระหว่างกันวันนี้ ไทยและศรีลังกาต่างยืนยันความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและใกล้ชิดในทุกระดับ ซึ่งมีรากฐานความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพระพุทธศาสนา
ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงศักยภาพมหาศาลระหว่างกัน โดยไทยเชื่อว่าการลงนาม FTA จะกระตุ้นการค้าและการลงทุนให้มากขึ้น และการลงนาม MOU อีก 2 ฉบับ ทั้งด้านการบินและการพัฒนาอัญมณี จะช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยง การท่องเที่ยว และการขนส่ง ในอนาคต
นอกจากนี้ การประชุม Sri Lanka - Thailand Business Forum จะเป็นการเวทีในการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่จะตามมาอีกมากให้กับภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งผู้นำไทยและศรีลังกาต่างสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้นในอนาคต
ด้านการลงทุน ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยโครงการ Landbridge ซึ่งเชื่อมโยงทะเลอันดามันกับอ่าวไทย และลดระยะเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยไทยและศรีลังกาสามารถร่วมมือกันในการเสริมสร้างความเชื่อมโยง และโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครงการ Landbridge ของไทย และท่าเรือโคลัมโบของศรีลังกา
การบินไทยกลับมาบิน กทม.-โคลัมโบ ทุกวัน
ด้านการท่องเที่ยว ไทยยินดีที่การบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ระหว่างกรุงเทพฯ และโคลัมโบ ทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2567 ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ ไทยยังเสนอความร่วมมือไตรภาคีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางเรือสามประเทศ ระหว่างอินเดีย ศรีลังกา และไทย รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพุทธศาสนาระหว่างกัน
ด้านการพัฒนา ไทยสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของศรีลังกา โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและการประมง และยินดีที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำเร็จของการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในด้านการเพาะเลี้ยงปลาการ์ตูน และโครงการในด้านสวัสดิภาพและถิ่นที่อยู่ของช้างระหว่างกัน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการอำนวยความสะดวกของศรีลังกาในการส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับประเทศ เพื่อรับการรักษาพยาบาลเมื่อปีที่แล้ว และขอบคุณการดูแลช้างไทยอีกสองเชือก ซึ่งช้างนับเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพและความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทย-ศรีลังกา
เดินหน้าเว้นวีซ่าสองประเทศ
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการยกเว้นวีซ่าระหว่างกัน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น
ผู้นำไทยและศรีลังกายังตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าและการรรลุเป้าหมายร่วมกัน ไม่เพียงแต่ในระดับทวิภาคีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในเวทีพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวที BIMSTEC สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA) และอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมสุดยอด BIMSTEC ครั้งที่ 6 ในปีนี้ ยินดีส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์จากฝ่ายศรีลังกา
นอกจากนี้ ไทยในฐานะเป็นผู้สมัครของอาเซียนในการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) สำหรับวาระปี 2568 - 2570 พร้อมทำงานร่วมกับศรีลังกาอย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
เปิดตลาดเอเชียใต้ให้สินค้าไทย
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ทวิตข้อความผ่าน X ส่วนตัวว่าไทย และศรีลังกามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผ่านพื้นฐานทางพระพุทธศาสนามายาวนาน และการลงนามความตกลงการค้าเสรีของเรา 2 ประเทศวันนี้ เป็นการลงนามฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และเป็นฉบับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ครับ โดยไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA กับศรีลังกาไปยังตลาดอื่นในเอเชียใต้ ขณะที่ศรีลังกาก็สามารถใช้ไทยไปยังประเทศอื่นในอาเซียนเช่นกัน
“มีบริษัทไทยจำนวนมากครับที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในศรีลังกา นี่คือโอกาสของเอกชนไทยที่จะใช้ประโยชน์จากโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังเติบโตของศรีลังกา และความได้เปรียบทางภาษีในตลาดต่างประเทศ และการเชื่อมโยงทางทะเล ไทยและศรีลังกาจะจับมือกันให้แน่นขึ้นกว่าเดิม เพื่อผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศ ประเทศไทยจะเป็นประตูสู่อาเซียนให้กับศรีลังกา ในขณะที่ศรีลังกาจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญให้ไทยเชื่อมโยงไปยังเอเชียใต้ครับ”