ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ฟื้น ครึ่งปีแรกไร้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นักวิชาการ ชี้ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคครึ่งปีแรกยังฟื้นไม่โดดเด่น ประชาชนกังวลปัญหาค่าครองชีพ ไร้มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ วิกฤติทะเลแดง คาดครึ่งปีหลังโดดเด่น
Key points
- ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในครึ่งแรกปี 2567 ยังไม่มีทิศทางการฟื้นตัวเพราะประชาชนยังกังวลปัญหาค่าครองสูง
- มาตรการ Easy E-Receipt ที่ใช้ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.2567 กระตุ้นการบริโภคในไตรมาส 1 ได้ไม่มากนัก
- การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้ไม่มีปัจจัยกระตุ้นกำลังซื้อและต้องรอการบังคัะบใช้ในไตรมาส 2
- ผู้บริโภคยังคงมีกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงครึ่งปีแรก 2567 จะทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้มีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าบางเดือนอาจจะสะดุดบ้างแต่ไม่มากมาตั้งแต่ม.ค.2566 และได้ปรับตัวขึ้นมา โดยดัชนีอยู่ในระดับปากเหว ก่อนทรุดตัวในช่วงโควิด-19
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นมากในแบบไม่โดดเด่น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตเพิ่มขึ้นในอัตราน้อย เพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจในอนาคตและยังไม่เห็นสิ่งที่เป็นตัวชี้ว่าอนาคตจะดีอย่างไร จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ไม่ชัดเจน เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะได้หรือไม่ได้ รวมถึงเม็ดเงินขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ดีจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว แต่ในไตรมาสที่ 1 ไม่มีเงินลงแน่นอน
ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐจึงไม่ชัดเจนแม้จะมีมาตรการ Easy E-Receipt ที่กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ.2567 แต่ก็แผ่วไม่ได้กระตุกการบริโภคเท่าไรนัก
นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกยังมี โดยเฉพาะวิกฤตทะเลแดงแม้ว่าจะไม่กระทบรุนแรง แต่คนกังวลราคาน้ำมันที่แพงโดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่จะปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มค่าไฟฟ้าที่จะปรับสูงขึ้นอีก 4.20 บาท ดังนั้นเป็นตัวบ่งบอกสัญญาณค่าครองชีพของประชาชนอยู่ในระดับสูง แม้อัตราเงินเฟ้อติดลบ คนก็ยังรู้สึกว่าของแพง รายได้ไม่ฟื้น อนาคตไม่ชัด ความเสี่ยงของโลกยังมี
ทั้งหมดนี้จึงเป็นภาพที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นฟื้นตัวอย่างไม่โดดเด่น แต่ไม่ทรุดเพราะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจากนโยบายฟรีวีซ่า คาดว่านักท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีประมาณ 35 ล้านคน สูงขึ้นจากปี 2566 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 28 ล้านคน บวกกับตัวเลขการส่งออกคาดว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้แน่นอน
ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ดีขึ้นเกือบทุกตัว ทำให้ตัวพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศไม่ทรุด ไม่ยุบ ไม่ย่อลง มีแรงกระตุ้นจากภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว โดยเมื่อถึงเดือน เม.ย.2567 รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณปี 2567ได้ เศรษฐกิจจะค่อยฟื้นตัวขึ้น และล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนและสหรัฐไม่ได้แย่
“เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่แย่ งบประมาณขับเคลื่อนได้ และอัตราดอกเบี้ยลด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะเด่นขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังแต่ภาพรวมก็ยังไม่อยู่ในแดนปกติ”
ส่วนการกระตุ้นกำลังซื้อนั้นในไตรมาส 1 ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงต้องรอการบังคับใช้งบประมาณปี 2567 ซึ่งยังไม่มีโครงการลงทุนหรือใช้จ่ายใดๆ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใน ส่วนดิจิทัลวอลเล็ตเป็นมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าหากมีการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้จีดีพีจะโตได้ 3.8% ไอเอ็มเอฟ คาดจีดีพีโต 4.4%
ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าจีดีพีจะโต 4.2 -4.5 % แต่ถ้าไม่มีดิจิทัลวอลเล็ต ธปท.คาดจีดีพีจะโต 3.2 % อย่างไรก็ตามการมีดิจิทัลวอลเล็ตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้และประชาชนหวังให้มีดิจิทัลวอลเล็ต แต่บางกลุ่มก็บอกว่าไม่มีก็ได้เพราะไม่คุ้มค่า หากถามในมุมเศรษฐกิจดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่แต่เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าหรือไม่คำตอบคือไม่ใช่
ล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ รายงานผลการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,241 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ธ.ค.2566 ว่า ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 60.9 เป็น 62.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สูงสุดในรอบ 46 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 เป็นต้นมา
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 58.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 71.3
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ
นอกจากนี้ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชน