“จุลพันธ์” เข้าพบนายกฯ หารือดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมตอบทุกคำถาม ป.ป.ช.
“จุลพันธ์” พบนายกฯ เร่งเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ตัวเลขบ่งชัดปัญหาหนี้กดดันเศรษฐกิจโต ต้องเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ย้ำดอกเบี้ยสูงภาระประชาชน ระบุอย่าห่วงรักษาเสถียรภาพการเงินอย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังวันนี้ (5 ก.พ.2567) เมื่อเวลา 12.30 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางจากกระทรวงการคลังไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจการคลัง รวมถึงความคืบหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
นายจุลพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือรายงานข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไรก็ตามเชื่อว่ามีคำตอบในทุกประเด็นอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าความเร่งด่วนในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นอย่างไร เมื่อผ่านมา 5 เดือนแล้ว นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ถ้าติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่าตัวเลขชี้ชัดว่าเกิดปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างไรก็ตาม แต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมานั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในปี 2566 ถึงแม้จะมีกลไกและการดำเนินนโยบายรัฐอื่นๆ แต่รัฐบาลยังคงเป็นกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ
”ดังนั้นกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะต้องทำนั้นมีความจำเป็น ส่วนจะสามารถทำได้เร็วแค่ไหน แน่นอนว่ารัฐบาลมองเป็นเรื่องเร่งด่วน เพียงแต่จะต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมทั้งสามารถตอบข้อห่วงใยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้“
เมื่อถามถึงภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน มองอย่างไร นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อสะท้อนถึงการขาดกำลังซื้อของประชาชน ส่วนหนึ่งอาจอ้างได้ว่าเป็นนโยบายลดค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐ อย่างไรก็ตามภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอย่างน่าเป็นห่วง แสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนหดหาย เนื่องจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ทำให้ห่วงกังวลเรื่องการแก้หนี้สินของตัวเองมากกว่าจะใช้จ่าย ภาคเอกชนเอกก็ไม่ลงทุน จึงทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ
”เราจะเห็นได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ผ่านมาจะอยู่ที่กลุ่มบนทั้งหมด ส่วนกลุ่มรากหญ้ากลับไม่มีการขยายตัวเพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ“
เมื่อถามถึงแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ. นี้ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เป็นอำนาจตัดสินใจของกนง. อย่างไรก็ตามเราชัดเจนอยู่แล้วว่าสถานการณ์ดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นภาระของพี่น้องประชาชน ซึ่งก็อยากจะฝากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ไม่ห่วงแต่เรื่องการรักษาเสถียรภาพเพียงอย่างเดียว
“ตอนนี้ระบบสถาบันการเงินแข็งแกร่งมาก สะท้อนจากผลดำเนินการของสถาบันการเงินที่ออกมา แต่ปัญหาคือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้นการดำเนินนโยบายการคลัง (fiscal policy) กับนโยบายการเงิน (monetary policy) ควรต้องเป็นไปในทางเดียวกัน”