ธุรกิจขนส่งพัสดุจีนโตต่อเนื่อง ปี 66 พุ่ง16.8% แรงหนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
สคต.กวางโจว จีน แนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมการขนส่งพัสดุ ร่วมมือกับแพลตฟอร์มและบริษัทโลจิสติกส์ กระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีน หลังธุรกิจขนส่งพัสดุจีนโตต่อเนื่อง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุ เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่เทคโนโลยีด้านดิจิทัลเข้ามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเห็นได้ชัดจากหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการซื้อขายผ่านออนไลน์มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของการขนส่งพัสดุ โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน รายงานผ่านเว็ปไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า ปี 2023 อุตสาหกรรมขนส่งพัสดุในประเทศจีนเติบโตขึ้น 16.8% โดยมีปริมาณยอดสะสมของพัสดุ 162,480 ล้านชิ้น โดยประกอบด้วยบริการส่งด่วนของบริษัทเอกชน (ไม่รวม China Post) ยอดสะสม 132,070 ล้านชิ้น เติบโตขึ้น 19.4 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ปริมาณบริการส่งด่วนภายในเมืองเดียวกันมียอดสะสม 13,640 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 6.6 % ปริมาณการส่งต่างพื้นที่มียอดสะสม 115,360 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 20.5 %ปริมาณการส่งต่างประเทศมียอดสะสม 3,070 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
การส่งจดหมายหรือเอกสารผ่านไปรษณีย์ (China Post) มียอดสะสม 970 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 2.7% พัสดุมียอดสะสม 24.7 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 40.6 % หนังสือพิมพ์มียอดสะสม 16,700 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้น 0.8 %นิตยสารมียอดสะสม 650 ล้านฉบับ ลดลง 5.7% การแลกเปลี่ยนเงินตรา มียอดสะสม 3.49 ล้านรายการ ลดลง 19.5 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับรายได้สะสมของอุตสาหกรรมบริการขนส่งพัสดุ (ไม่รวมรายได้จากการดำเนินงานโดยตรงของ Postal Savings Bank of China) 1,529,300 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น13.2% ซึ่งประกอบด้วยรายได้สะสมของบริการส่งด่วนบริษัทเอกชน 1,207,400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เฉพาะเดือนธ.ค.ปี 2023 ปริมาณบริการขนส่งพัสดุมีจำนวน 16,170 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 26.5 %
ในนี้มีปริมาณของบริการส่งด่วนบริษัทเอกชนจำนวน 13,260 หมื่นล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 27.9 % เฉพาะเดือนธ.ค. รายได้ทั้งหมดจากบริการขนส่งพัสดุมีจำนวน 144,870 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.7 % แบ่งเป็นรายได้จากบริการส่งด่วนบริษัทเอกชน 118,880 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19.2%
ปริมาณบริการส่งด่วนตลอดทั้งปี 2023 แบ่งสัดส่วนได้ดังนี้ ต่างพื้นที่คิดเป็น 87.4 % ภายในเมืองเดียวกันคิดเป็น 10.3 % และต่างประเทศคิดเป็น 2.3 % ของปริมาณทั้งหมด
ทั้งนี้ รายได้จากบริการส่งด่วนแบ่งสัดส่วนได้ดังนี้ ต่างพื้นที่คิดเป็น 49.7 % ต่างประเทศคิดเป็น11.6% และเมืองเดียวกันคิดเป็น 5.9% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สัดส่วนของปริมาณบริการส่งด่วนภายในเมืองเดียวกันลดลง 1.3 % ต่างพื้นที่เพิ่มขึ้น 0.8 %และต่างประเทศเพิ่มขึ้น 0.5%
นายเหอหลีหมิง ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อ กล่าวว่า ในปี 2023 ตลาดโลจิสติกส์ของประเทศจีนได้กลับมาเติบโตขึ้น คาดว่าปริมาณรวมโลจิสติกส์ทั้งปี 2023 จะมีมูลค่ากว่า 350 ล้านล้านหยวน ปริมาณบริการขนส่งพัสดุตลอดทั้งปีมากกว่า 1.32 ล้านชิ้น ครองอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันยาวนานถึง 10 ปี มีปริมาณขนส่งสินค้าทางรถไฟจำนวน 3.91 พันล้านตัน นับเป็นการสร้างสถิติใหม่อีกครั้ง
อีกทั้ง ยังมีปริมาณการขนส่งสินค้าและพัสดุทางอากาศจำนวน 7.35 ล้านตัน โดยกลับสู่ระดับมาตรฐานเดิมก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2019
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศจีนมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน จนถึงปลายปี 2023
ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์เกรด A ของประเทศจีนซึ่งมีสถานะดำเนินการค่อนข้างดี และมีศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาด มีจำนวนมากกว่า 9,600 ราย รายได้รวมจากธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัทโลจิสติกส์ 50 อันดับแรกของประเทศจีนในปี 2023 มีมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์อัจฉริยะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และคาดว่าจำนวนธุรกิจแพลตฟอร์มขนส่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 ราย
นางสาวอรนุช วรรณภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว ประเทศจีน ให้ความเห็นว่า ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้บริการขนส่งมากที่สุดในโลก และมีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อีกทั้งในประเทศจีนมีบริษัทโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพสูงเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงสามารถใช้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมขนส่งพัสดุโดยการร่วมมือกับแพลตฟอร์มและบริษัทโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศจีนได้ โดยเมืองที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านปริมาณและรายได้จากบริการขนส่งพัสดุตามลำดับ คือ เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น อี้อู และหางโจว ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก มีความพร้อมในด้านการขนส่งไม่ว่าทั้งทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ
ทั้งนี้ แม้ภาคกลางและภาคตะวันตกจะมีปริมาณการขนส่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับภาคตะวันออก แต่ก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการหาช่องว่างทางการตลาดได้