เปิดแผน ‘การบินไทย’ จัดหาเครื่องบิน 45 ลำ รับมอบลำแรกอีก 5 ปี

เปิดแผน ‘การบินไทย’  จัดหาเครื่องบิน 45 ลำ รับมอบลำแรกอีก 5 ปี

การบินไทยมีแผนจัดหาเครื่องบินชุดใหม่ 45 ลำ ส่วนใหญ่เป็นโบอิ้ง ทดแทนที่ลดระวาง พร้อมเตรียมรองรับอุตสาหกรรมการบินขยายตัว เริ่มทยอยส่งมอบลำแรกในอีก 5 ปี ชี้ออร์เดอร์สั่งเครื่องบินทั้งโบอิ้งและแอร์บัสทะลัก

Key Points

  • การบินไทยอยู่ระหว่างจัดหาเครื่องบินรอบใหม่ 45 ลำ ตามแผนฟื้นฟูกิจการรองรับอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว
  • การจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ไม่ใช้วิธีการซื้อ แต่จะมีรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานะการเงิน เช่น การเช่าดำเนินการ
  • เครื่องบินส่วนใหญ่ที่จัดหาเป็นโบอิ้ง แต่ไม่ใช่รุ่น 787 ทั้งหมด และจะมีกลไกไม่ให้มีปัญหาจัดหาเครื่องบินเหมือนในอดีต

    บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนจัดหาเครื่องบินจำนวน 45 ลำ โดยเป็นการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการในการจัดหาเครื่องบินเพื่อมาประจำการในฝูงบินทดแทนเครื่องบินที่ปลดระวางไปแล้วและอยู่ในแผนการปลดระวาง

    แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฯ ได้เห็นชอบในหลักการในการจัดหาเครื่องบินใหม่ ซึ่งการจัดหาเครื่องบินทั้ง 45 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินโบอิ้ง แต่ไม่ใช่รุ่น 787 ทั้งหมด

    ทั้งนี้ การบินไทยกำหนดแนวทางการจัดหาที่สอดคล้องกับสถานะทางการเงิน จึงทำให้การจัดหาเครื่องบินครั้งนี้ไม่ใช่รูปแบบการ “ซื้อ” โดยการบินไทยได้ศึกษารูปแบบการจัดหาเครื่องบินที่เหมาะสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบัน เช่น การเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) , สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease)

สำหรับเครื่องบินที่จัดหาได้วางแนวทางเพื่อความโปร่งใสเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจัดหาเครื่องบินเหมือนในอดีต โดยมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาเครื่องบิน รวมทั้งมีการหารือกับผู้ที่จะมาจัดทำไฟแนนซ์ในการจัดหาเครื่องบิน โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดหา 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1.ความคุ้มค่าในการจัดหาเครื่องบินมาประจำการ

2.ความรับผิดตามสัญญาจัดหา

3.ความคงทนของเครื่องบิน

“การจัดหาเครื่องบินรอบนี้ การบินไทยจะได้รับเครื่องบินลำแรกในอีก 5 ปี ข้างหน้า เพราะคำสั่งซื้อเครื่องบินของแอร์บัสและโบอิ้งเพิ่มขึ้นมาก หลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย และอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวขึ้น”

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสายการบินทั้งฝั่งเอเชียและยุโรปต่างทยอยมีคำสั่งซื้อเครื่องบินกับผู้ผลิตทั้ง 2 ราย จึงทำให้การส่งมอบเครื่องบินในช่วงนี้มีความล่าช้า

รวมทัั้งผู้ผลิตเครื่องบินต้องการคำสั่งซื้อที่แน่นอนจึงเริ่มวางแผนการผลิต ในขณะที่การผลิตเครื่องบินต้องใช้อุปกรณ์และชิ้นส่วนจำนวนมากกว่า 1 ล้านชิ้น

นอกจากนี้ การบินไทยได้ชี้แจงเมื่อเดือน พ.ย.2566 ว่า การบินไทยและบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบิน 68 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 48 ลำ โดยการบินไทยรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน 1 ลำ ในช่วงเดือน ก.ย.2566 รวมในปี 2566 รับเครื่องบินเพิ่ม 3 ลำ 

สำหรับเครื่องบินของการบินไทยที่ประจำการ จะมีแอร์บัส A350 , แอร์บัส A320-200 , โบอิ้ง B777-200ER , โบอิ้ง B777-300ER , โบอิ้ง B787 และ โบอิ้ง B777

ทั้งนี้ การจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมรอบใหม่ 45 ลำ เมื่อรวมกับจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ในปัจจุบันยังถือว่าน้อยกว่าฝูงบินของการบินไทยในอดีตที่มี 100 กว่าลำ

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้ทยอยขายเครื่องบินไป โดยข้อมูล ณ เดือน พ.ค.2566 รวมทั้งมีเครื่องบินที่ทำการซื้อขายแล้วเสร็จรอส่งมอบ ได้แก่ โบอิ้ง 747 จำนวน 10 ลำ และแอร์บัส A340 จำนวน 9 ลำ รวมถึงได้มีเครื่องบินที่ปลดระวาง ได้แก่ เครื่องบินโบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ

สำหรับแผนการปลดระวางในอนาคตยังมีอีกหลายลำ รวมทั้งเครื่องบินบางรุ่นที่ประจำการอยู่เริ่มมีปัญหาขาดแคลนอะไหล่ ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้การบินจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม

รวมทั้งการบินไทยและบริษัทย่อยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.0 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน และไทยสมายล์ 8.2 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 53.3% 

ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 100.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 80.0% (การบินไทย 80.0% และไทยสมายล์ 80.4%) สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1%

และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4% เป็นส่วนของการบินไทยและไทยสมายล์ 6.50 และ 3.63 ล้านคน ตามลำดับ