ดูไบสานฝัน 'แลนด์บริดจ์' เดือนนี้บินตรงดูพื้นที่จริง
DP World สานฝันร่วมลงทุน "แลนด์บริดจ์" เตรียมลงพื้นที่ ก.พ.นี้ ด้าน สนข.ยืนยันโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุน สร้างผลตอบแทน Internal Rate of Return สูงกว่า 10% ต่อปี ปักหมุดออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568
โครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ เป็นอีกหนึ่งโครงการชูโรงของรัฐบาล “เศรษฐา” ตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่ง การค้าและการลงทุน เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมต่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นเส้นทางรองรับสินค้าจากจีน อินเดีย ไปยังยุโรป หรือนำเข้าส่งออกมายังอาเซียน
สถานะปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างเดินสายโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนทั่วโลก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปีนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573
ผลจากการโรดโชว์ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาประกาศความสำเร็จเบื้องต้นแล้วว่า มีนักลงทุนต่างชาติหลายแห่งให้ความสนใจร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย และหลายประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่มทุนดูไบ บริษัท Dubai Port World (DP World) บริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ทางน้ำ ประสานขอเดินทางมาลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการในเดือน ก.พ.นี้
DP World เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการศึกษาโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้มาก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เมื่อปี 2551 ซึ่งในสมัยนั้น DP World สนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง บนชายฝั่งทะเลอันดามันและบนชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย วงเงิน 200 ล้านบาท
ขณะที่ผลการศึกษาในขณะนั้น DP World แนะนำให้พัฒนาท่าเรือพื้นที่อำเภอท่านุ่น จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นที่ตั้งคนละพื้นที่กับแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ในปัจจุบัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าทางเรือ
ปัญญา ชูพานิชผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุถึงการแสดงความสนใจร่วมลงทุนของกลุ่ม DP World ด้วยว่า DP World เป็นบริษัทแรกๆ ที่เข้ามาช่วยไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งเอกชนที่เข้าใจและรู้เรื่องแลนด์บริดจ์เป็นอย่างดี
ก่อนหน้านี้ DP World ได้ติดต่อมายัง สนข.เพื่อสอบถามถึงรายละเอียดผลการศึกษาแลนด์บริดจ์ที่ได้ทบทวนใหม่ ซึ่งครั้งนี้จะพัฒนาในพื้นที่ชุมพร – ระนอง พร้อมทั้งแสดงความสนใจในโครงการนี้ สอบถามข้อมูล และสนใจที่จะร่วมลงทุน โดยขณะนี้ DP World ได้ประสานมาเตรียมลงพื้นที่จริง เยี่ยมชมโครงการในเดือน ก.พ.นี้
สนข.ในฐานะหน่วยงานศึกษาความเหมาะสมการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ยืนยันได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน มีผลตอบแทนการลงทุนโครงการวัดจาก Internal Rate of Return (IRR) สูงกว่า 10% ต่อปี อีกทั้งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี
สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับชุมชน และส่วนสำคัญของการผลักดันโครงการนี้ จะสนับสนุนขีดความสามารถการขนส่งสินค้าทางเรือของไทย ยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อกับการขนส่งทั่วโลก