เขตเศรษฐกิจ ‘EEC-SEC’ ปัจจัยหนุนจดทะเบียนธุรกิจปี 67

เขตเศรษฐกิจ ‘EEC-SEC’ ปัจจัยหนุนจดทะเบียนธุรกิจปี 67

“แลนด์บริดจ์เป็นแม่เหล็กให้ธุรกิจขยายตัวในอนาคต เพราะสร้างแรงจูงใจและเพิ่มบรรยากาศการลงทุน ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดปี 67 จดทะเบียนธุรกิจใหม่เพิ่ม 15%

แนวโน้มการจดทะเบียนตั้งธุรกิจในปี 2567 มีทิศทางปรับเพิ่มมากขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การประกอบธุรกิจในประเทศไทย จากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse+

ทั้งนี้ในปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (2557-2566) โดยปี 2566 มีนักลงทุนจดทะเบียนรวม 85,300 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 8,812 ราย หรือ 12% มูลค่าทุน 562,469 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 132,640 ล้านบาท หรือ 31% 

"อรมน ทรัพย์ทวีธรรม "อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าประเมินว่ายอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จะเพิ่มขึ้น 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2566 

รวมทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประเมินจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัว 2.7% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.7-3.7% ตามการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมถึงการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 2.0-3.0%

ในขณะที่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจ รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการประกอบธุรกิจจากความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย

เขตเศรษฐกิจ ‘EEC-SEC’ ปัจจัยหนุนจดทะเบียนธุรกิจปี 67

ในปี 2567 ยังมีเทรนด์ที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ เทรนด์สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง 

รวมถึงปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อสถานการณ์แล้งและต้นทุนราคาอาหาร ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนที่สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปี 2567

นอกจากนี้ ยังประเมินว่ามีโอกาสที่ยอดการจดทะเบียนธุรกิจในปี 2567 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 15% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีจากจากนโยบายที่รัฐบาลให้วีซาฟรี ซึ่งล่าสุดไทยได้มีข้อตกลงการยกเว้นวีซ่าถาวรกับจีนและมีผลในเดือน มี.ค.2567 รวมทั้งการท่องเที่ยวได้รับแรงสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการท่องเที่ยว

สำหรับนโยบายการเขตพัฒนาพิเศษมีส่วนในการสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งพบว่าในปี 2566 มีผู้ประกอบการต่างประเทศยื่นขออนุญาตทำธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวม 134 ราย เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนธุรกิจของผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น จีน ฮ่องกงและสหรัฐ โดยเป็นการเข้ามาลงทุนในธุรกิจรับจ้างการผลิต การค้าส่งและบริการทางวิศวกรรม

“เขตพัฒนาพิเศษยังคงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จูงใจบริษัทต่างชาติเพื่อเข้ามาทำธุรกิจในไทย และจะเป็นแรงส่งต่อเนื่องในปีนี้ เพราะมีสิทธิประโยชน์ทั้งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”

 

นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เป็นอีกปัจจัยที่จะมีผลต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าโรดโชว์เพื่อดึงการลงทุนจากหลายประเทศ

ทั้งนี้ โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นแม่เหล็กอีกตัวที่ทำให้การประกอบธุรกิจขยายตัวได้ในอนาคต เพราะจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจและเพิ่มบรรยากาศการลงทุน ซึ่งการพัฒนาแลนด์บริดจ์จะมาพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการกำหนดสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน โดยการดำเนินการจะต้องเตรียมความพร้อมด้านแรงงานและบุคลากรรองรับการเข้ามาลงทุน

“การดำเนินการจะมีการรับฟังควมคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อประเมินว่าคนในพื้นที่มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน และถ้าสามารถชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนได้เชื่อว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น”

สำหรับปี 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ถึง 12% ซึ่งจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นไปตามการคาดการณ์การจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่อยู่ระหว่าง 82,000-85,000 ราย 

โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นจากปี 2565 รวมกับมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้างโครงการอย่างต่อเนื่องหลังจากล่าช้าช่วงสถานการณ์โควิด-19 และการขยายตัวของธุรกิจการท่องเที่ยวจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2566

“กลุ่มธุรกิจภาคบริการยังคงเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในการจัดตั้งธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ว่ามีจำนวนการจัดตั้งสูงติดอันดับต้นๆ ทั้งธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร”

ส่วนการเลิกประกอบกิจการถือว่าเป็นแนวโน้มปกติ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเลิกประกอบกิจการกับการจัดตั้งธุรกิจ พบว่า เลิกกิจการคิดเป็น 27.41% ของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 ที่มีอัตรา 28.61% และอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง (2561-2565) โดยอยู่ที่ 29.75% ประกอบกับจำนวนการเลิกประกอบกิจการในปี 2566 อยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2565 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การเลิกประกอบกิจการยังคงเป็นปกติ และการจัดตั้งธุรกิจยังคงมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากปี 2565