ผลศึกษาชี้ต้องใช้เงิน 8 พันล้านอุดหนุน ความฝันรถไฟฟ้า20 บาทตลอดสาย
นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทาง เป็นนโยบายของแกนนำรัฐบาลแต่การดำเนินการจริงแบบครบถ้วนตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้นั้นต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญ นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการวิเคราะห์ผลกระทบการเสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เผยแพร่โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ระบุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมาย กฎหมายฉบับนี้ว่ามีขึ้นเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทางและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางระบบขนส่งมวลชนเมื่อเดินทางเชื่อมต่อหลายระบบ ภาครัฐจึงมีนโยบายให้จัดท าระบบตั๋วร่วม ซึ่งใช้บัตรโดยสารเพียงใบเดียวในการเดินทางระบบขนส่งมวลชนและสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการนอกภาคขนส่งด้วย
โดยให้มีมาตรฐานระบบตั๋วร่วมเพียงระบบเดียวซึ่งสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวมาใช้กับทุกระบบที่เข้าร่วมให้บริการระบบตั๋วร่วม เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนของประชาชนโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบรรเทาปัญหาจราจรแออัดในตัวเมือง
ทั้งนี้การบูรณาการระบบตั๋วร่วมจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการระบบขนส่งมวลชนแต่ละรายในการร่วมให้บริการ
ระบบตั๋วร่วมในการจัดเก็บค่าโดยสารหรือค่าผ่านทาง ซึ่งต้องอาศัยกลไกด้านกฎหมายในการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องและขอบเขตความร่วมมือการให้บริการของระบบตั๋วร่วม รวมถึงหลักเกณฑ์การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบตั๋วร่วมและระบบขนส่งสาธารณะ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้ประกาศนโยบายลดค่าครองชีพในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า และนำร่องปรับราคาค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟชานเมืองสายสีแดง พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น และล่าสุดในส่วนของรถไฟชานเมืองสายสีแดงยังสามารถทำสถิติผู้ใช้บริการสูงสุด (New High)
อย่างไรก็ดี แผนการดำเนินงานหลังจากนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าจะผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดขึ้นครอบคลุมระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้เวลาผ่านไปแล้วครึ่งปี จะพยายามดำเนินการให้ออกมาให้เป็นรูปธรรมให้ได้ หากร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางปีนี้
“การผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาทให้ครอบคลุมทุกเส้นทาง แน่นอนว่าปัจจุบันมีรถไฟฟ้าหลายสายที่บริหารโดยเอกชนที่มีคู่สัญญากับภาครัฐ แนวทางดำเนินงานคือกระทรวงฯ จะไม่ให้กระทบกับสัญญาสัมปทาน ดังนั้นจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และผลักดันการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเงินในกองทุนดังกล่าวมาชดเชยรายได้ให้แก่เอกชน ไม่ให้ผิดสัญญาสัมปทาน”
ขณะที่ผลการศึกษาในปัจจุบัน กรมการขนส่งทางรางได้มีการประเมินว่าหากใช้นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะต้องใช้เงินชดเชยจำนวนประมาณ 8 พันล้านบาท โดยการจัดหาเงินชดเชยดังกล่าวจึงมองว่าจะต้องมีการจัดตั้งกองทุน และระดมเงินมาจากหลายส่วน อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เดิมต้องนำส่งกระทรวงการคลัง เป็นต้น
ดังนั้นในปี 2567 กระทรวงฯ ยอมรับว่าจะยังไม่มีรถไฟฟ้าสายใดที่สามารถเข้าร่วมนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทได้เพิ่มเติม เนื่องจากมีความจำเป็นต้องรอให้มีการพิจารณา พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมให้แล้วเสร็จก่อน โดยกรอบการดำเนินงานที่ประเมินไว้ในขณะนี้ คาดว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะสามารถเสนอคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ประมาณเดือน มี.ค. - พ.ค.2567 เนื่องจากสถานะปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียด รวมถึงข้อกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ
หลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาประมาณเดือน มิ.ย. - พ.ย. 2567 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ธ.ค. 2567 - ส.ค.2568 เบื้องต้นจึงประเมินว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะสามารถออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ประมาณเดือน ก.ย.-พ.ย.2568 ซึ่งอยู่ในเป้าหมายของกระทรวงฯ ที่จะผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายตามนโยบายสูงสุด 20 บาท