'ด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา' 1.9 หมื่นล้าน ประมูล เม.ย.นี้ เรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจ

'ด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา' 1.9 หมื่นล้าน ประมูล เม.ย.นี้ เรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจ

การทางฯ ยก “ด่วนจตุโชติ - ลำลูกกา” เป็นโครงการเรือธงเข็นเม็ดเงินกระตุ้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมดึงบิ๊กเอกชนลงสนามชิงงานโยธา 1.9 หมื่นล้านบาท เม.ย.นี้ ใช้เงินกองทุน TFF เดินหน้าตอกเสาเข็มทันทีปลายปี67

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ - ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร โดยระบุว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ เพื่อประกาศขายซองเอกสาร TOR ภายในเดือน เม.ย.2567 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญากับเอกชน และเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปีแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 2570

สำหรับโครงการทางด่วนสายนี้ กทพ.จะใช้เงินลงทุนราว 1.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของงานโยธา 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกราว 4 พันล้านบาท จะจัดสรรจากเงินกู้ซึ่งได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจัดหาแล้ว เบื้องต้นพบว่าไม่มีปัญหาติดขัด เนื่องจาก กทพ.มีผลการดำเนินงานเป็นบวกต่อเนื่อง ขณะที่ส่วนของงานติดตั้งระบบทางด่วน คาดว่าจะใช้วงเงินราว 1 พันล้านบาท

รวมประมูลงานโยธาสัญญาเดียว 

“การทางฯ เราประเมินว่าจะประมูลงานโยธาภายใต้สัญญาเดียว เพราะต้องการให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากมีประสบการณ์จากหลายๆ โครงการที่แยกสัญญาและพบว่างานบางสัญญาล่าช้า กระทบต่อสัญญาอื่นที่สร้างเสร็จแต่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ส่วนงานระบบก็จะแยกประมูลเป็นอีกหนึ่งสัญญา”

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า การรวมประมูลงานโยธาภายใต้สัญญาเดียวนั้น กทพ.จำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาที่จะมาร่วมประมูลงานให้เข้มข้นมากขึ้น โดยต้องการจัดหาผู้รับเหมาระดับชั้นพิเศษ ที่มีประสบการณ์ทำงานก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นใจ โดยเชื่อว่าโครงการจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากเอกชน เพราะถือเป็นโครงการลงทุนภาครัฐที่ออกประกวดราคาเป็นโครงการแรกของปี

สำหรับโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา นับเป็นโครงการเรือธงของกระทรวงคมนาคมที่จะนำร่องเปิดประกวดราคาเป็นโครงการแรก รวมทั้งยังสามารถลงนามสัญญาและลงทุนได้ทันที เนื่องจากโครงการนี้ กทพ.จะใช้เงินลงทุนจากกองทุน TFF ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรออนุมัติงบประมาณประจำปี

\'ด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา\' 1.9 หมื่นล้าน ประมูล เม.ย.นี้ เรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจ

หทัยราษฎร์-นิมิตใหม่ทำเลทอง 

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษฉลองรัชสายนี้ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ทางพิเศษในปัจจุบันรับความเร็วได้ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อีกทั้งยังรองรับระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แบบอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) ซึ่ง กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 3.2 หมื่นคันต่อวัน กำหนดอัตราค่าผ่านทางเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 125 บาท โครงการมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1

ส่วนตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับทหัยราษฎร์ ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2 และตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา โดยทางด่วนสายนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ รวมถึงเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนระหว่าง จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดใกล้เคียงเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน รองรับการขยายตัวของแหล่งชุมชน ที่อยู่อาศัย และสถานศึกษา ทั้งที่เปิดบริการแล้ว และอยู่ระหว่างพัฒนา

ผลตอบแทนทางการเงิน 4.29%

นอกจากนี้ โครงการยังมีจุดไฮไลท์อยู่บนพื้นที่บริการทางพิเศษ หรือจุดพักรถ (Service Area) บนเนื้อที่ประมาณ 64 ไร่ โดยจะตั้งอยู่บริเวณคลอง 9 ซึ่งจะทำเป็นอาคารคร่อมทางด่วน สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งสองฝั่งถนน โดยจะมีพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ พื้นที่จอดรถขนาดเล็ก อาคารสถานีตำรวจและกู้ภัย ร้านค้า สำนักงานของ กทพ. เพื่อให้บริการประชาชน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ห้องน้ำ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger Station)

สำหรับพื้นที่บริการทางพิเศษนั้น กทพ. จะเป็นผู้บริหารโครงการเอง โดยอาคารคร่อมทางพิเศษนี้จะมีลักษณะเหมือนห้างสรรพสินค้า เหมือนกับทางพิเศษที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะมีผู้ใช้ทางบางส่วน ใช้บริการทางพิเศษเพื่อมาแวะห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว ช่วยทำให้มีผู้ใช้ทางเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มผู้ใช้บริการทางพิเศษเพื่อการเดินทางเท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ – ถนนลำลูกกา จากผลการศึกษาเบื้องต้นมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return) อยู่ที่ 4.29% มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return) อยู่ที่ 15.97% และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) ณ อัตราคิดลด 12% อยู่ที่ 7,351.53 ล้านบาท