รัฐกางแผนเร่งใช้ ’งบไปพลางก่อนฯ‘ อัด 9.2 แสนล้าน ’กระตุ้นเศรษฐกิจ‘
ครม.ไฟเขียวแผนเร่งรัดจ่ายงบไปพลางก่อนปี 66 วงเงินเหลืออยู่ 9.2 แสนล้านบาท ลงระบบเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้น 3 เดือน ก่อนงบฯ67 ประกาศใช้ พร้อมอนุมัติปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มแผนก่อหนี้ใหม่ 5.6 แสนล้าน รองรับการขาดดุลงบประมาณ ยันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกินเพดาน
Key Points
- งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะบังคับใช้ได้ประมาณเดือน พ.ค.67
- งบประมาณที่รัฐบาลใช้อยู่ในปัจจุบันยังใช้งบไปพลางก่อนปี 66 ที่ตั้งงบฯไว้ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท
- แม้ว่าผลการเบิกจ่ายงบประมาณไปพลางก่อนในไตรมาสที่1 จะทำได้มากกว่าเป้า แต่เนื่องจากมีวงเงินที่ตั้งไว้แล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจากปัจจุบันยังมีวงเงินเหลือประมาณ 9.2 แสนล้านบาท ที่จะต้องเร่งรัดเกินเบิกจ่ายเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม
การประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2567 คาดว่าจะมีผลในเดือน พ.ค.2567 ซึ่งล่าช้ากว่าปกติถึง 6-7 เดือน ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต้องสะดุดลง โดยรัฐบาลได้เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ 2566 เพื่อให้มีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือน นับจากนี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.พ.2567 เห็นชอบรายงานผลการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน และมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อนตามที่สำนักงบประมาณเสนอ
ทั้งนี้มีสาระสำคัญว่าตามที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประกาศใช้บังคับไม่ทันวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ต.ค.2566) สำนักงบประมาณได้ขออนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้งบประมาณประจำปี 2566 ไปพลางก่อน โดยกำหนดวงเงินไว้ในการให้หน่วยงานให้งบไปพลางก่อนวงเงินรวม 1.80 ล้านล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.-ธ.ค.2566) มีผลการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 946,076 ล้านบาท คิดเป็น 52.36%
รวมทั้งจากวงเงินทั้งหมดที่สูงกว่าเป้าหมายช่วงไตรมาส 1 อยู่ 3.42% ทั้งนี้สำนักงบประมาณรายงานว่ามีเม็ดเงินที่เหลืออยู่ในส่วนของงบประมาณไปพลางก่อนอยู่อีก 928,254 ล้านบาทซึ่งสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้เพื่อช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้
นอกจากนี้สำนักงบประมาณได้เสนอมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้เป็นแนวทางในการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกันตามระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินจากคลังไว้เบิกเหลื่อมปี เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน และเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
เร่งเบิกจ่ายงบที่ก่อหนี้ไว้แล้ว
รวมถึงเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสถานการณ์ และดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ทันทีเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2566 ดังนี้
1.ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีของปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้เบิกจ่ายอย่างมีนัยสำคัญได้ภายในไตรมาสที่ 2 (ม.ค.-ม.ค.2567) โดยเฉพาะในส่วนรายจ่ายที่ก่อหนี้ผูกพันแล้ว สำหรับเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่อยู่ระหว่างดำเนิน กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วให้เร่งรัดการก่อหนี้และเบิกจ่ายโดยเร็ว
2.กำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการให้สอดคล้องกับเป้าหมายภาพรวมของประเทศ และใช้เป็นแนวทางในการใช้จ่ายเมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ประกาศใช้บังคับ โดยหากหน่วยรับงบประมาณดำเนินการได้ตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายที่กำหนดไว้ แต่ต่ำกว่าเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณข้างต้นให้ถือว่าได้ดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายในไตรมาสนั้นแล้ว
อัดประชุมสัมมนากระตุ้นระยะสั้น
3.ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดการจัดฝึกอบรม ประชุม สัมมนาประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน โดยเร่งรัดหรือปรับแผนการดำเนินงานและใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 2 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
4.ให้หน่วยรับบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้นและเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
5.ให้กระทรวงการคลังในการกำหนดแนวปฏิบัติและซักซ้อมความเข้าใจเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระหว่างที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างด้วยความรวดเร็ว และเป็นการกระตุ้นให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วตามนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาล โดยก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายได้ภายหลังที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้มีผลใช้บังคับ
รัฐบาลก่อหนี้เพิ่ม5แสนล้าน
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ
ทั้งนี้มีทั้งก่อหนี้ใหม่ปรับแผนบริหารหนี้เดิมและปรับแผนการชำระหนี้ โดยแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มจากเดิม 194,434 ล้านบาท เป็น 754,710 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 560,276 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ในประเทศ วงเงิน 424,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปี 2567 (เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน)
รวมถึงปรับเพิ่มเพื่อให้รัฐบาลรองรับการใช้จ่ายของภาครัฐได้ตามปกติก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะบังคับใช้ และสอดคล้องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายประจำปี 2566 ไปพลางก่อน โดยมีวงเงินไม่เกินสองในสามของวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2566
ส่วนเงินกู้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 18,776ล้านบาท เมื่อบวกลบกันแล้วมาจาก กรมทางหลวงปรับลดโครงการทางหลวงระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อต่อสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพราะปริมาณงานลดลง 455.99 ล้านบาท กองทัพเรือปรับลดวงเงินโครงการสนามบินอู่ตะเภา ทางก่อสร้างและทางขับที่ 2 วงเงิน 90 ล้านบาท
กระทรวงสาธารณสุข ปรับเพิ่มวงเงิน โครงการพัฒนาระบบสาธารณสุข 6,873 ล้านบาท และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ปรับเพิ่มวงเงินโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3GeV และห้องปฎิบัติการ 12,359 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง (หนี้ในประเทศ) วงเงิน 63,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไปพลางก่อน เท่ากับสองในสามของ 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
ส่วนแผนบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.621 ล้านล้านบาท เป็น 2.008 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 387,758 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มจากเดิม 390,538 ล้านบาท เป็น 399,613 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9,075 ล้านบาท
ยืนยันไม่เกินเพดานหนี้70%
ทั้งนี้การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 รอบนี้ เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดกรอบหนี้สาธารณะต่อ GDP กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% ซึ่งการปรับวงเงินเพิ่มครั้งนี้ จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 61.29%
ขณะที่สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35% ซึ่งการปรับวงเงินเพิ่มครั้งนี้สัดส่วนหนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้ อยู่ที่ 33.06%
ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ล่าสุดอยู่ที่ 1.5%ส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ของการส่งออกสินค้าและบริการ กำหนดไว้ไม่เกิน 5% ล่าสุดอยู่ที่ 0.4%
นายชัย กล่าวว่า การอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกอย่าง และนอกจากนี้ ครม.อนุมัติเพิ่มเติมให้บรรจุโครงการพัฒนา และโครงการหรือรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้นอีก 56 โครงการ รวมทั้งอนุมัติให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ต่อภาระหนี้ของกิจการไม่เกิน 1% กู้เงินเพื่อมาใช้ในการบริหารกิจการได้ แต่ต้องเป็นไปตามแผนหรือคำแนะนำของคณะกรรมการด้วย