‘เศรษฐา’ สั่งรุก ‘โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ’ เผยศักยภาพผลิตไฟ 1 หมื่นเมกกะวัตต์
“เศรษฐา” บูมพลังงานสะอาดดึงการลงทุนเข้าไทย สั่งเดินหน้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในพื้นที่เขื่อนให้เต็มศักยภาพ 5 พัน - 1 หมื่นเมกะวัตต์ ชี้ศรีลังกาให้ความสนใจ พร้อมให้ ปตท.-กฟผ.ส่งเทคโนโลยีพลังงานไปบุกต่างประเทศ และเพื่อนบ้าน
วันนี้ (14 ก.พ.)นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน” ในการเสวนา Thailand Energy Executive Forum จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่าปัจจุบันเรื่องของพลังงานสะอาดถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความพร้อม และได้เตรียมการเรื่องนี้มาเป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2040 เราได้คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ เป็นพลังงานสะอาด มากกว่า 50% ของไฟฟ้าทั้งหมด
ขณะที่ในการหารือกับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้ทราบว่าปัจจัยอย่างหนึ่งที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศต่างๆคือการมีพลังงานสะอาด
ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ และเรามีความได้เปรียบเพื่อนบ้านในอาเซียน แม้แต่สิงคโปร์ก็ไม่สามารถลงทุนเพิ่มในเรื่องนี้ได้มากนักเพราะพื้นที่ไม่พอ
“ในการลงทุนใหม่ๆที่เป็นสาขาที่เราต้องการดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย เช่น ในเรื่องของดาต้าเซนเตอร์ ที่มีเอกชนรายใหญ่ เช่น หัวเหว่ย AWS ได้บอกว่าต้องการนโยบายคลาวด์เฟิร์ส และนโยบายเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งตรงนี้ผมได้บอกไปว่าประเทศไทยมีความพร้อมและมีข้อได้เปรียบมาก”
ทั้งนี้การทำเรื่องพลังงานสะอาดตอนนี้เรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ถือว่ามีบทบาทอย่างมาก ซึ่งนอกจากการส่งเสริมมการติดโซลาร์เซลล์ในบ้านต่างๆ ประเทศไทยมีพื้นที่ในเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเราใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำมาก่อนแต่ตอนนี้คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าไม่ถึง 5% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ แต่พื้นที่เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีนั้นสามารถใช้เป็นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ (solar floating)
ซึ่งไทยเรามีพื้นที่มากและจะสามารถผลิตไฟฟ้าจาก solar floating ได้มากถึง 5000 – 10,000 เมกะวัตต์ซึ่งได้สั่งการให้เดินหน้าในเรื่องนี้ ซึ่งได้บอกกับ ปตท. และ กฟผ.ไปแล้วว่าอะไรที่เป็นเทคโนโลยีที่เราสามารถที่จะส่งต่อไปยังต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านได้ก็ขอให้เร่งรัดซึ่งถือว่าเป็นการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพอีกรูปแบบหนึ่ง
“ผมได้หารือกับ รมว.พลังงานของศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วและกำลังจะออกจากการฟื้นฟูของ IMF ซึ่งเขาเล่าถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในทะเล ซึ่งผมก็คิดว่าน่าสนใจแต่ต้นทุนอาจจะสูงมาก เลยบอกว่าของไทยนั้นเรามีโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลลาร์เซลล์ลอยน้ำโดยใช้พื้นที่จากเขื่อน ซึ่งทางศรีลังกาสนใจมาก ผมได้สั่งการแล้ว ให้ กฟผ.ไปประสานงานในเรื่องนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมการลงทุนอีกรูปแบบนึง” นายเศรษฐา กล่าว