คลังเล็งเก็บแวตสินค้านำเข้าทุกรายการ
คลังนัด 4 หน่วยงานถกแนวเก็บภาษีสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท หวังแก้ไขปัญหาสินค้าจีนทะลักและสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ปลัดคลังชี้ 2 แนวทางหลักแก้ปัญหา ทั้งการเก็บแวตสินค้านำเข้าทุกรายการ และ การปรับลดมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากร
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันนี้(15 ก.พ.)ตนได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนเรื่องการยกเว้นภาษีสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท มาหารือแนวทางการทบทวนในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการหารือครั้งนี้ จะพิจารณาถึงผลกระทบในภาพรวมทุกมิติ ทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้า และ การใช้ช่องทางดังกล่าวในการหลบเลี่ยงภาษี
ทั้งนี้ 2 แนวทางในการพิจารณา คือ 1.การปรับลดมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าจาก 1,500 บาทลงมา และ 2.การแก้ไขประมวลรัษฎากรในการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)สินค้านำเข้าตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บแวตนำเข้าในทุกรายการสินค้า และให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ แต่ทั้งสองแนวทางยังไม่ได้ข้อสรุป
“ในส่วนของการปรับลดมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นนั้น จะต้องสอบถามต่อกรมศุลกากรว่า มูลค่าที่ได้รับการยกเว้นนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร เหตุใดจึงใช้มูลค่านี้ หรือ เป็นไปตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ หากจะมีการแก้ไข จะกระทบต่อการดำเนินงานและการจัดเก็บรายได้ของกรมหรือไม่อย่างไร หรือ ถ้าเราไม่ปรับลดมูลค่าในการยกเว้น เราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้าไปตรวจปล่อยสินค้าในทุกรายการ เพื่อป้องกันสินค้าที่นำเข้ามาโดยใช้ช่องทางดังกล่าวในการยกเว้นอากร หรือ ป้องกันสินค้าต้องห้ามในการนำเข้า เป็นต้น”
ในส่วนของการยกเว้นจัดเก็บแวตสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทนั้น เขากล่าวว่า เรื่องนี้ ไม่ควรที่จะมีการยกเว้น เพราะเป็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ประกอบการในประเทศ หากเราจะไม่ยกเว้น จะต้องดำเนินการอย่างไร และจะจัดเก็บอย่างไร เรื่องนี้ ก็จะหารือกับทางกรมสรรพากรด้วย
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ในส่วนของกรมฯนั้น จะต้องรอฟังแนวนโยบายของกระทรวงการคลังว่า จะให้กรมฯดำเนินการอย่างไรบ้างในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมฯได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)สำหรับสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าของกรมศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรกำหนดมูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นอากรที่ 1,500 บาท ดังนั้น สินค้านำเข้าใดที่มีมูลค่าตามที่กรมศุลกากรกำหนดในการยกเว้น การจัดเก็บภาษีแวตก็จะได้รับการยกเว้นเช่นกัน
ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวว่า การพิจารณาในประเด็นดังกล่าว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือกันมาระยะหนึ่งแล้ว ในวันนี้ จะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งว่า จะเลือกแนวทางใดที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งนี้ การกำหนดอัตราการยกเว้นอากรสินค้านำเข้านั้น มีที่มาที่ไป ทั้งในเรื่องของการอำนวยสะดวกทางการค้าตามข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และ รวมถึง ความคุ้มค่าในการจัดเก็บรายได้ อย่างไรก็ตาม กรมฯพร้อมที่จะปฎิบัติตามนโยบายหากมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการจัดเก็บ
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การยกเว้นภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เป็นไปตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับภูมิภาค โดยในส่วนของไทยนั้น การกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำนั้น จะเป็นไปที่อธิบดีกรมศุลกากรด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ดี การกำหนดราคาขั้นต่ำดังกล่าว ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเวทีโลกว่า ระดับราคาแท้จริงควรอยู่ที่เท่าไหร่จึงจะได้ผลดีต่อการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์สเพิ่มสูงขึ้นในทุกปี ซึ่งการกำหนดราคาศุลกากรขั้นต่ำดังกล่าว จะช่วยลดขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าของเจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ การกำหนดราคาสินค้านำเข้าขั้นต่ำที่ได้รับยกเว้นอากรกลับเป็นช่องโหว่ในการนำเข้าสินค้าให้มีราคาต่ำ ปัจจุบันสินค้านำเข้าจากประเทศจีนได้ทะลักเข้าไทยจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมทางด้านภาษี
สำหรับราคาศุลกากรขั้นต่ำที่ไทยกำหนดให้ยกเว้นอากร 1,500 บาท เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2530 ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 500 บาท ทั้งนี้ เมื่อมีการยกเว้นราคาขั้นต่ำสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรดังกล่าว ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าที่นำเข้าตามมูลค่าดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้ด้วยเนื่องจาก อัตราอากรได้รับการยกเว้น จึงไม่มีฐานที่จะนำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ มีข้อเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษีจากผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรกสำหรับราคาสินค้าที่ผลิตและขาย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาทบทวนเรื่องดังกล่าว โดยมีข้อเสนอ 2 แนวทางหลัก คือ 1.ปรับลดมูลค่าสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าจาก1,500 บาทลงมา และ 2.ให้กรมสรรพากรแก้ไขประมวลรัษฎากรในการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บแวตสินค้านำเข้าตามกฎหมายศุลกากร เพื่อให้กรมสรรพากรดำเนินการจัดเก็บแวตนำเข้าในทุกรายการสินค้า และให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีผ่านแพลทฟอร์มออนไลน์ แต่ทั้งสองแนวทางยังไม่ได้ข้อสรุป