เกษตรฯ ป้องทุเรียนอ่อน ปี 67 คุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต

เกษตรฯ ป้องทุเรียนอ่อน ปี 67 คุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต

กระทรวงเกษตรฯ สั่งเข้ม เตรียมความพร้อมรับมือ ป้องปรามทุเรียนด้อยคุณภาพ รักษาภาพลักษณ์ไทย ไม่ขายทุเรียนอ่อน ถอดบทเรียนกำหนดแนวทาง มุ่งรักษาคุณภาพมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและตลาดส่งออกต่างประเทศ

นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ว่า จากการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ในปี 2566 ที่ผ่านมา คณะทำงานได้ถอดบทเรียนการดำเนินงานควบคุมคุณภาพทุเรียนในภาคตะวันออก (จังหวัดจันทบุรี ตราด และจังหวัดระยอง) และนำมาสู่การเตรียมการกำหนดแนวทางการตรวจสอบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ปี 2567

เกษตรฯ ป้องทุเรียนอ่อน ปี 67 คุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต

สำหรับสถานการณ์การผลิตทุเรียนในปี 2567 มีเนื้อที่ให้ผล 424,729 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 34,552 ไร่ โดยคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 823,989 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 46,984 ตัน หรือคิดเป็น 6% โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มี.ค. – ส.ค.67 ซึ่งจะสูงสุดในเดือน พ.ค.67

 

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับควบคุมคุณภาพของทุเรียนตั้งแต่สวน จนถึงมือผู้บริโภคทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการส่งออกและเพื่อรักษาสัดส่วนตลาดทุเรียนในจีน จึงกำหนดแนวทาง ดังนี้

เกษตรฯ ป้องทุเรียนอ่อน ปี 67 คุมคุณภาพทุกขั้นตอนการผลิต

 

1. การควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) เพื่อให้เกษตรกร มือตัด แผงรับซื้อ ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตัด การซื้อขายทุเรียน และยกระดับคุณภาพของทุเรียน โดยดำเนินการ  กำหนดจุดบริการตรวจก่อนตัด/กำหนดแผนการตรวจรายแปลง 

 เกษตรกรและนักตัดทุเรียน ต้องเก็บตัวอย่างทุเรียนในสวนของตนเอง หรือสวนที่จะตัดและนำไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งก่อนตัดอย่างน้อย 3 วัน

 จุดตรวจบริการตรวจก่อนตัด ต้องออกหนังสือรับรองให้เกษตรกร  สถานประกอบการ (ล้ง) ต้องสื่อสารกับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

 แผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจแผงรับซื้อ

 

2. การขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน เพื่อยกระดับมาตรฐานนักคัดนักตัดทุเรียน โดยขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จัดทำระบบนักคัดนักตัด เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบ และสามารถนำไปใช้ได้ทั่วประเทศ

 

3. การควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) ชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร ตรวจหนังสือรับรองผลการตรวจจากสวน ตามมาตรการตรวจก่อนตัด และออกใบสรุปผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช ตรวจสอบก่อนปิดตู้ส่งออก โดยก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยวทุเรียน ตรวจทุกชิปเมนต์ที่จะส่งออก และหลังประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียน ทำการแบ่งเกรดสีโรงคัดบรรจุตามข้อมูลผลการตรวจก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยว (สีเขียว สีเหลือง สีแดง) โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจ และตรวจเข้มข้น โดยเพิ่มความถี่ในกลุ่มโรงคัดบรรจุสีแดง และสีเหลือง

 

4. การควบคุมคุณภาพผลผลิตตลาดในประเทศ (ค้าส่ง-ค้าปลีก) แต่งตั้งคณะทำงานและชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อกำกับดูแลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้าปลีก จัดจำหน่ายสินค้าคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศ

 

5. การสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ และกรมประมง เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ พร้อมทั้ง ได้เรียมการยกระดับการดำเนินงานโดยเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรรายแปลง และส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มแล้วสนับสนุนให้รับรอง GAP แบบกลุ่ม เพื่อเตรียมการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับตลาดส่งออกในอนาคต

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย ความก้าวหน้ามาตรฐานบังคับทุเรียน เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070-2566) ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการออกกฎกระทรวง และอยู่ในขั้นตอนรอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ เดือน ก.ค. – ก.ย. 67 และคาดว่ามีผลบังคับใช้ประมาณ ก.พ. 68

 รับทราบผลการตรวจสอบควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ฤดูกาลส่งออกปี พ.ศ.2566 ภาคตะวันออก (จันทบุรี ระยอง ตราด) จำนวนโรงคัดบรรจุ 528 แห่ง จำนวนตัวอย่างทุเรียนที่สุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง 6,273 ผล ผ่านการสุ่มตรวจ 5,937 ผล (94.64%)

ภาคใต้ (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) จำนวนโรงคัดบรรจุ 291 แห่ง จำนวนตัวอย่างทุเรียนที่สุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์แป้ง 3,759 ผล ผ่านการสุ่มตรวจ 3,476 ผล (92.47%) ขณะที่ สถิติการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีน ปี 2566 ส่งออกทั้งหมด 57,000 ตู้/ชิปเม้นท์ ปริมาณ 945,9000 ตัน มูลค่า 120,469.34 ล้าน