ไทยโวย WTO ปมอินเดียห้ามส่งออกข้าว ผิดกฎการค้าไม่แจ้งก่อน-ไร้เวลาสิ้นสุด
ผลจาก อินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวบางประเภท แต่กลับยอมให้ประเทศคู่ค้ามาขอเจรจายกเว้นเป็นประเทศ ๆ ไป และไม่แจ้งมาตรการต่อ WTO และไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้มาตรการ ทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าเดิม
Key Point
- มาตรการห้ามส่งออกของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีความเสถียร ทำให้ยากต่อการเตรียมการผลิตในปีต่อไป
- มีประเด็นอ่อนไหวที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น คือ การเจรจาเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- สหรัฐ จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ
ประเทศไทยขายข้าวไปต่างประเทศเมื่อปี 2566 ปริมาณสูงถึง 8.7 ล้านตัน เมื่อคิดเป็นมูลค่าก็สูงถึง 1.78 แสนล้านบาท นับเป็นรายได้หล่อเลี่้ยงเศรษฐกิจที่มากอย่างมากนัยสำคัญ ทั้งในแง่มูลค่าและการส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่เกษตรกรไทย ซึ่งใช้พื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า50% ของพื้นที่เพาะปลูกของประเทศ และมีชาวนาประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็น 25% ของจำนวนประชากรในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ชาวนาไทยก็ยังยากจน และสินค้า“ข้าว”ของไทยก็ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่างๆในแต่ละปี ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา อินเดีย ได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวทำให้ตลาดโดยรวมปั่นป่วนรวมไทยประเทศไทยในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดการค้าข้าวโลก
พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก(WTO)และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจาเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าของ WTO ครั้งที่ 13 (MC13)ที่จะมีขึ้นที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26-29 ก.พ. 2567 ได้เข้มข้นขึ้นจนสามารถมีร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) ออกมาเป็นกรอบแล้ว พร้อมกับร่างความตกลงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือความตกลงเรื่องเกษตร และความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงภาคสอง แต่ทุกเรื่องยังต้องเจรจาในรายละเอียดต่ออีกมากกว่าจะไปถึงอาบูดาบีในช่วงปลายเดือน
สำหรับประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาภาคเกษตรและอาหาร และการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง เป็นลำดับแรก โดยสถานะการแข่งขันของสินค้าเกษตรภายนอกประเทศยังมีความรุนแรงมาก โดยนโยบายอุดหนุนและการสำรองอาหารไว้มากเกินความจำเป็นของหลายประเทศ รวมไปถึงการออกมาตรการห้ามส่งออกของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีความเสถียร ทำให้ยากต่อการเตรียมการผลิตในปีต่อไป
โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่เช่น อินเดีย ที่ประกาศห้ามส่งออกข้าวบางประเภท แต่กลับยอมให้ประเทศคู่ค้ามาขอเจรจายกเว้นเป็นประเทศ ๆ ไป และไม่แจ้งมาตรการต่อ WTO ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าเดิมไปบางส่วน และไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้มาตรการ ซึ่งมีแนวโน้มที่อินเดียจะใช้วิธีการนี้มากขึ้น
“ดังนั้น ไทยต้องติดตามการเจรจาอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่น และเพื่อรักษาตลาดส่งออกของไทยผ่านการเจรจาสร้างกฎเกณฑ์พหุภาคีที่เป็นธรรมมากที่สุด”
ในเรื่องการเจรจาการอุดหนุนประมงภาคสอง ที่เน้นเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด และการให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนานั้น เนื่องจากรัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับทบทวนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคประมงและชาวประมงทั้งหมด ท่าทีไทยในการเจรจาเรื่องดังกล่าวจึงเน้นดูให้สอดคล้องกับทิศทางของนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการทำประมงพื้นบ้าน และยกระดับมาตรฐานและการตรวจสอบ (traceability) ของสินค้าประมงไทยด้วยพร้อมกัน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน
นอกจากเรื่องเกษตรและประมงที่มีรายละเอียดการเจรจาอ่อนไหวจำนวนมากแล้ว ขณะนี้ กลับมีประเด็นอ่อนไหวที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น คือ การเจรจาเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐประกาศทบทวนนโยบายดิจิทัล พร้อมถอนข้อเสนอและท่าทีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในประเด็นที่เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูล (access to data) ในการเจรจาหลายฝ่าย และประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ ๆ เรียกร้องให้กฎเกณฑ์ด้านการค้าดิจิตัลเปิดช่องให้กำหนดนโยบายภายในประเทศที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
“ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเพราะทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคตที่พึ่งพาการค้าผ่านสื่อ (digital trade) และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งสิทธิความเป็นเจ้าของในตัวดิจิตัลคอนเทนต์ เช่น เพลง ภาพยนต์ คอนเสิร์ต หนังสือ แม้แต่สิทธิในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย คาดว่าเรื่องนี้จะไปถึงมือรัฐมนตรีแน่นอน”
ส่วนประเด็นหารืออื่นๆ ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อ MC13 มากนัก ต่างจากการประชุมรัฐมนตรีครั้งก่อน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในหลายประเทศใหญ่ ๆ ปีนี้มากกว่า ที่ส่งผลให้แต่ละประเทศมีท่าทีที่แข็ง ไม่ยอมยืดหยุ่นง่ายๆ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย หรือสหภาพยุโรปที่กำลังเผชิญปัญหาการประท้วงโดยเกษตรกรและชาวนาในหลายประเทศ และสหรัฐ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ ทำให้ไม่สามารถมีท่าทีที่ชัดเจนได้ในหลายเรื่อง เช่น การระงับข้อพิพาท พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่ที่แน่นอนคือ สหรัฐ จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ
แม้เวทีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งนี้จะเต็มไปด้วยประเด็นร้อนแรงพร้อมท่าทีสมาชิกแต่ละประเทศที่พกความแข็งกร้าวมาอย่างเต็มเปี่ยมแต่การได้มาชุมนุมและหารือกันในเรื่องต่างๆแม้ไม่ได้ข้อสรุปในทุกเรื่องแต่ก็จะเป็นแนวทางที่ส่งต่อไปสู่การหาทางออกที่ยึดเอาประโยชน์ร่วมกันเป็นสำคัญแทนที่จะหยิบเอาการตอบโต้และโจมตีกันไปมาโดยใช้การค้าเป็นเครื่องมือซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าประโยชน์ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม