ทาง 2 แพร่งไฮสปีดเทรน CP ยื้อลงทุนมา 4 ปี รัฐขีดเส้นตายตอกเสาเข็ม พ.ค.นี้
3 หน่วยงาน วุ่นเคลียร์ปัญหาการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “สกพอ.-รฟท.-บีโอไอ” เคลียร์ปมบัตรส่งเสริมลงทุน ห่วงลงนามมา 4 ปี ยังเริ่มก่อสร้างไม่ได้ เผยเร่ง “ซีพี” เจรจาหาทางออกเพื่อเดินหน้าโครงการ ด้าน ร.ฟ.ท.ขีดเส้นตาย พ.ค.นี้ ต้องลงนามแก้ไขสัญญาใหม่
Key Points
- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของ EEC ที่จะเป็นประตูเชื่อมการเดินทางกับกรุงเทพฯ
- กลุ่มซีพีลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ ร.ฟ.ท.ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 และยังไม่เริ่มการก่อสร้าง โดยได้เจรจาขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
- ปัจจุบันมีปัญหาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน เมื่อกลุ่มซีพีขอยืดระยะเวลาการส่งออกเอกสารครั้งที่ 3 ไปจนถึงเดือน พ.ค.2567
- การก่อสร้างที่ล่าช้ากว่าแผนไปมากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนใน EEC จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดบริหารปี 2567
หากการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เป็นไปตามแผนนับตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด หรือในชื่อเดิมบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน จำกัด ลงนามสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 จะทำให้บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด เปิดบริการรถไฟความเร็วสูงได้ในปี 2567
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์หลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด เป็นผู้รับสิทธิโครงการ 50 ปี จากการเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำสุดในราคา 117,227 ล้านบาท
สำหรับผู้ร่วมทุนในบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 70% (กลุ่มซีพี) รองลงมาเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM สัดส่วน 10%
บริษัท China Railway Construction Corporation Limited สัดส่วน 10% และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD สัดส่วน 10% และบริษัท ช.การช่างจำกัด (มหาชน) สัดส่วน 10%
หลังจากที่มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้เกิดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ยื่นเงื่อนไขรอรับมอบพื้นที่ก่อสร้างเมื่อ ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบ 100% ส่งผลให้การส่งมอบพื้นที่ยืดเยื้อเพราะ ร.ฟ.ท.ต้องใช้เวลาในการเจรจากับผู้บุกรุกและรื้อถอนสาธารณูปโภค เช่น ท่อน้ำมัน ท่อประปา
ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ยกเป็นข้ออ้างให้ภาครัฐมีมาตรการเยียวยา เพราะมีผลต่อจำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 และกระทบวนการแก้ไขสัญญายังไม่ได้ข้อสรุปจนถึงปัจจุบัน
ล่าสุดมีประเด็นบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565 แต่ไม่ยื่นออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยขอขยายเวลา 2 ครั้ง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่ขยายเวลาให้อีกทำให้บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ยื่นอุทธรณ์ และท้ายที่สุดบีโอไออนุมัติให้ขยายเวลาครั้งที่ 3 เป็นสิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค.2567
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า หากภายในวันที่ 22 พ.ค.2567 บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ไม่มาออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจะทำให้ ร.ฟ.ท.ออกหนังสือเริ่มต้นดำเนินงาน (NTP) ไม่ได้เพราะในสัญญากำหนดให้ต้องมีบัตรส่งเสริมการลงทุนจึงจะออก NTP ได้
ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ประเมินว่า ความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนใน EEC
“ซีพี” ไร้ข้อสรุปแผนการเงิน
นอกจากนี้ บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ยังไม่ได้ข้อสรุปของแผนการเงินทุนของโครงการ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด แจ้งต่อ BOI ว่า ต้องการขอเวลาเพิ่มเติมก่อนที่จะส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยปัจจุบันบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับ ร.ฟ.ท.และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
รวมทั้ง บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ระบุว่าการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนจะเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการจัดหาเงินทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งทำให้บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ต้องขอเวลาเพิ่มในการหารือกับทั้ง 2 หน่วยงาน
สำหรับการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเป็นอีกประเด็นที่มีความยืดเยื้อมามากกว่า 2 ปี ครึ่ง โดยเริ่มมีการหารือประเด็นนี้ในปี 2563 ก่อนที่จะเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564
ส่วนการเจรจามีประเด็นหลัก คือ การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ และการลงทุนงานโยธาที่ทับซ้อนกันบริเวณสถานีกลางบางซื่อ แต่ได้ข้อสรุปเฉพาะประเด็นค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้ผ่อนชำระได้
“2 แนวทาง” อนาคตไฮสปีดเทรน
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการหารือในประเด็นที่บริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ยื่นอุทธรณ์การขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดย สกพอ.มองว่าเหตุผลที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ระบุถึงการขอขยายเวลารับบัตรส่งเสริมการลงทุน เพราะยังติดปัญหาเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนนั้น ประเด็นนี้ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่จะได้รับ
อีกทั้งหากขยายเวลาขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก จะเกิดความล่าช้าของโครงการ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นของประเทศ จึงควรเร่งรัดให้บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด ส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว และไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก
รวมทั้งหากบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด ยื่นเอกสารขอออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไม่ได้ควรให้เจรจาหาสิทธิประโยชน์ด้านอื่นตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งหารือร่วมกับคู่สัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน นำไปสู่การเดินหน้าก่อสร้างโครงการโดยเร็ว
ทั้งนี้ แนวทางออกในกรณีบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ไม่ส่งเอกสารหรือส่งเอกสารไม่สมบูรณ์เพื่อออกบัตรส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 22 พ.ค.2567 ซึ่งมีการประเมินว่าจะผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อไปนั้น เบื้องต้นมี 2 แนวทาง ประกอบด้วย
1.การเดินหน้าโครงการต่อ โดยจะต้องมีการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฉบับใหม่ เพื่อตัดเงื่อนไขการออกหนังสือ NTP ออกไปจากในสัญญาปัจจุบันกำหนดให้เอกชนคู่สัญญาต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจึงจะออก NTP ได้
รวมทั้งเอกชนคู่สัญญาอาจต้องยื่นขอบัตรส่งเสริมการลงทุนใหม่ หรืออาจยื่นขอส่งเสริมการลงทุนผ่าน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก่อนที่จะดำเนินการออก NTP
2.การยกเลิกสัญญาร่วมลงทุนฉบับนี้ และเดินหน้าประมูลใหม่ ซึ่งการดำเนินการจะเริ่มพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับสัญญาร่วมลงทุน เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณาอนุมัติก่อนเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ
“ไฮสปีดเทรน” ล่าช้ากระทบโครงการอื่น
แหล่งข่าว กล่าวว่า ความล่าช้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนในโครงการอื่น โดยเฉพาะโครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพราะจำเป็นต้องพิจารณาโครงสร้างร่วมกัน และโครงการท่าอากาศยานก็ต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเนื่องจากจะเป็นระบบขนส่งที่สนับสนุนกัน
อย่างไรก็ดี สกพอ.ยืนยันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุน หากท้ายที่สุดไม่สามารถเดินหน้าสัญญากับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ก็จะต้องมีการจัดหาเอกชนรายใหม่เข้ามาประมูลโครงการ เพราะความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ EEC และโครงการด้านคมนาคมจะสมบูรณ์แบบนั้น จำเป็นต้องเดินหน้าโครงข่ายระบบรางสำคัญอย่างไฮสปีดเทรน
รัฐเร่งเจรจา “ซีพี” แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ.เปิดเผยว่า หลังจาก BOI อนุมัติขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3 ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ออกไปอีก 4 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค.2567 ให้ส่งเอกสารรับบัตรส่งเสริมการลงทุนได้ถึงวันที่ 22 พ.ค.2567
อย่างไรก็ดี จากการอนุมัติครั้งนี้ ทราบว่ามีเหตุผลประกอบจากกรณีที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน ต้องการเวลาในการหาทางออกเรื่องเงื่อนไขในสัญญาร่วมทุนที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดกับ ร.ฟ.ท.คู่สัญญา โดยต้องการให้การแก้ไขสัญญาใหม่แล้วเสร็จก่อนจะมาขอยื่นออกบัตรส่งเสริมการลงทุน
ดังนั้นเมื่อ BOI ขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ก็ต้องเร่งรัดการเจรจาแก้ไขสัญญาใหม่ให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งเร่งรัดให้เอกชนคู่สัญญามาดำเนินการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกรอบกำหนด เพื่อให้ ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผน และเริ่มงานก่อสร้างโดยเร็ว เนื่องจากภาพรวมของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ยอมรับว่าขณะนี้ล่าช้ากว่าแผนแล้ว
โดย ร.ฟ.ท.มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ตามสัญญา แต่ยังติดปัญหาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ทำให้ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ โดย สกพอ.มองว่าขณะนี้ควรเร่งรัดให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว เพราะต้องพิจารณาด้วยว่าความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นกระทบต่อแผนดำเนินการลงทุนในส่วนอื่นๆ หรือไม่ อาทิ โครงการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีโครงสร้างร่วมกับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินด้วย
“ตอนนี้โครงการสนามบินอู่ตะเภาทราบว่าทางเอกชนมีความพร้อมในด้านเงินลงทุนแล้ว รวมทั้งงานลงทุนภาครัฐส่วนของรันเวย์ที่ 2 กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนงานก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะได้ตัวผู้รับเหมาในช่วงกลางปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มงานก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570-2571”
คาดออก NTP ได้ภายในเดือน พ.ค.
นายอนันต์ โพธ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า หลังการพิจารณาขยายเวลาการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องกลับมากำหนดทิศทางการดำเนินงานของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเตรียมเดินหน้าออกหนังสือ NTP
ทั้งนี้จากการประเมินภาพรวมโครงการในปัจจุบัน แม้จะล่าช้ากว่าแผนดำเนิน แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ เพราะก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท.ประเมินกรอบเวลาในการออกหนังสือ NTP และลงนามแก้ไขสัญญาใหม่ภายในเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นปัจจุบันยังถือว่ามีเวลาในการพิจารณาและเจรจาร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการดำเนินงานที่ดีที่สุด
“ขณะนี้การรถไฟฯ มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แก่เอกชนครบ 100% ตั้งแต่เดือนต.ค.2564 รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการ (TOD มักกะสัน) ส่วนประเด็นก่อสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการพิจารณาแก้ไขร่างสัญญา ดังนั้นเรื่องนี้ยังมีเวลาที่จะเจรจาร่วมกัน”