ดับบลิวทีโอเปิด“อาบูดาบีแพ็คเกจ” ชง MC13
ทูตไทยประจำดับบลิวทีโอ เผย สมาชิกดับบลิวทีโอ เตรียมเสนอ ” อาบูดาบีแพ็คเกจ”ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีการค้าของดับบลิวทีโอ เร่งแก้ปัญหาการค้า สิ่งแวดล้อม โลกร้อน พร้อมประเด็นการค้าใหม่ๆอีกเพียบ
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. 2567 องค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ ได้เผยแพร่ อาบูดาบีแพ็คเกจ (Draft Abu Dhabi Package for the Thirteenth WTO Ministerial Conference) เพื่อนำเสนอในการประชุมรัฐมนตรีการค้าของ WTO ครั้งที่ 13 ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ก.พ.2567 โดยหนึ่งในเอกสารสำคัญของ Abu Dhabi package คือร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี ซึ่งเป็นเอกสารสรุปท่าทีร่วมกันของสมาชิก WTO ทั้งหมด 164 ประเทศต่อการดำเนินงานที่ผ่านมาหลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 และแนวทางต่อการดำเนินงานของ WTO ในอนาคต
“ร่างปฏิญญาอาบูดาบี ได้รวมข้อเสนอสำคัญที่ประเทศสมาชิกบางประเทศต้องการผลักดัน เพื่อให้ WTO ดำเนินการในช่วงต่อไป เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่างๆในโลกการค้าปัจจุบัน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศสนใจจะเป็นเรื่องการค้าและสิ่งแวดล้อม โลกร้อน แต่ก็มีเรื่องใหม่ ๆ ที่มีประเทศเสนอเข้ามาซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รับฉันทามติทุกเรื่อง”
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า โดยในส่วนของประเทศพัฒนาแล้ว ได้พยายามผลักดันให้ WTO เริ่มหารือเกี่ยวกับการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม (Trade and industrial policy) และการค้าและการมีส่วนร่วม (trade and inclusion) ที่เสนอโดยแคนาดาและออสเตรเลียตามลำดับ ซึ่งทั้งสองข้อเสนอนี้มีพื้นฐานมาจากข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2566 โดยเรื่องการค้าและนโยบายอุตสาหกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิก WTO หารือกันถึงความท้าทายและเครื่องมือทางนโยบายที่ประเทศสมาชิกใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตน
รวมทั้งแนวทางในการยกระดับความโปร่งใสในการแจ้งข้อมูลมาตรการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมและแนวทางในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ WTO ที่สหภาพยุโรปอ้างว่าจำเป็นต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ที่ประเทศสมาชิกหลายรายนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการผลิตล้นเกินและการบิดเบือนทางการค้าไปยังประเทศสมาชิกอื่น
สำหรับข้อเสนอของออสเตรเลียนั้น เสนอให้ WTO หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการมีส่วนร่วม ซึ่งยังไม่ได้ระบุหัวข้อรายละเอียดที่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการยกระดับบทบาทของสตรีในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การสนับสนุน MSMEs และอาจรวมการส่งเสริมการกระจายผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศไปยังทุกภาคส่วนของประเทศสมาชิกต่างๆ ที่สหภาพยุโรปเคยเสนอเมื่อปี 2566
ส่วนประเทศกำลังพัฒนามีข้อเสนออยู่หลายข้อด้วยกัน ที่สำคัญคือข้อเสนอของกลุ่มแอฟริกา 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือความพยายามผลักดันให้สมาชิกหารือถึงพื้นที่เชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Policy space for industrial development) ที่กลุ่มแอฟริกาอ้างว่ากฎระเบียบของ WTO ห้ามหรือไม่ให้ความยืดหยุ่นต่อประเทศกำลังพัฒนาในการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การห้ามใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออก และมาตรการข้อบังคับใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ (Local content requirement) สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ประเทศพัฒนาแล้วเคยใช้จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนในอดีต
นอกจากนี้ กลุ่มแอฟริกายังพยายามผลักดันให้มีการหารือเกี่ยวกับการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Trade and transfer of technology) เพื่อหาทางส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากขึ้น และการหารือการค้าและหนี้ (Trade and debt) เพื่อหาทางออกให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหนี้ ทำให้ไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือจัดซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างอินเดียยังพยายามผลักดันให้ WTO หารือใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. การค้าบริการระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการจัดทำรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพ (Health professionals) 2.ต้นทุนการโอนเงินระหว่าง (Cost of remittances) และ 3. ความตกลง TRIPS และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) โดยมีประเทศกำลังพัฒนามากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มลาตินอเมริกาให้การสนับสนุน เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนามีกำลังแรงงานภาคบริการจำนวนมาก รวมทั้งมีการส่งเงินจำนวนมากกลับประเทศมาตุภูมิ และยังมีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถถูกนำมาต่อยอดได้มากมาย ซึ่งไม่ควรจะถูกนำไปหาประโยชน์โดยนักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ยังมี ข้อเสนอการเกษตรยั่งยืนของบราซิลที่ให้ประเทศสมาชิกหารือแนวทางการยกระดับการผลิต ผลิตภาพ และการค้าสินค้าเกษตร และอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น
“ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของประเทศสมาชิก WTO ในการผลักดันให้ WTO เริ่มหารือเรื่องใหม่ ๆ เพื่อไม่ให้ตกขบวนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากประเด็นข้างต้นนี้แล้ว ยังมีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ความมั่นคง เรื่อง global supply chain เป็นต้น แต่ ณ ขณะนี้ เรายังไม่ทราบว่า จะมีเรื่องใดที่ได้รับฉันทามติเห็นชอบให้อยู่ในผลลัพธ์การประชุม MC13 ที่อาบูดาบี ให้เป็นแนวทางให้ WTO หารือหรือเจรจาต่อไปบ้าง ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามสำคัญที่กำหนดอนาคตของการค้าโลก ซึ่งจะได้รับคำตอบจากการประชุม MC13 ภายในสิ้นเดือนก.พ.นี้” นางพิมพ์ชนกกล่าว