'ส.อ.ท.' หวัง 'กนง.' ลดดอกเบี้ย กดต้นทุนอุตสาหกรรม-แก้หนี้ครัวเรือน
"ส.อ.ท." หวัง "กนง." ลดดอกเบี้ยกดต้นทุนอุตสาหกรรม แก้หนี้ครัวเรือน เสนอรัฐหารือสายเรือ เพิ่มตู้-เรือขนส่งสินค้า ดันยอดส่งออกฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ม.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 90.6 เพิ่มขึ้นจากจากเดือนธ.ค. 66 อานิสงส์ตรุษจีน-Easy E-receipt
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึงอัตราดอกเบี้ยที่คงอยู่ในปัจจุบันที่ระดับ 2.50% ถือว่ายังอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกลไกกำกับดูแลว่าควรจะอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ ดังนั้น หากเปรียบเทียบตัวเลขระหว่างเงินกู้และเทียบระดับอาเซียนประเทศไทยถือว่าสูงกว่ามาก ดังนั้น จึงอาจจะต้องดูในเรื่องของประมาณไหน
"เราไม่ก้าวล่วงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เมื่อดูตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นที่ผ่านมาเฉลี่ยยังสูง จึงอยากจะขอร้องให้ช่วยกลับไปดู เพราะในประเทศเพื่อนบ้านขึ้นเฉลี่ยน้อยกว่า ดังนั้น จึงยังมีประเด็นอื่นที่ต้องดู ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับวิธีบริหารจัดการของธนาคาร และอาจต้องดูทั้งระบบจึงอยากให้รีวิวเรื่องนี้ ซึ่งเราก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องปรับลงมากเหมือนสิงคโปร์"
นายมนตรี เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 90.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 88.8 ในเดือนธ.ค. 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับอานิสงส์มาตรการ Easy E-receipt ในช่วงวันที่ 1 ม.ค.- 15 ก.พ. 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว วีซ่า-ฟรี (Visa-Free) ส่งผลให้ในช่วงเดือนม.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยกว่า 2,743,147 คน เพิ่มขึ้น 27.8% (YoY) ขณะที่ภาคการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลก และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง และอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินกิจการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ SMEs ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้นจากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ยังเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากอัตราค่าระวางเรือ ค่าธรรมเนียมและค่าประกันต่าง ๆ ที่เกิดจากปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ขณะที่ การขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและยุโรปใช้ระยะเวลานานขึ้น เนื่องจากต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือผ่านแหลมกู๊ดโฮป
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,331 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. ในเดือนม.ค. 2567 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 82.5% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 73.7% ราคาน้ำมัน 50.1% เศรษฐกิจในประเทศ 45.2% ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน โดยอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 41.5% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 35.0% ตามลำดับ
"ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.2 ในเดือนธ.ค. 2566 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ มาตรการพักชำระหนี้ SMEs"
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดงที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการภาคการส่งออกของไทยในระยะต่อไป รวมถึงกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) และความผันผวนของราคาพลังงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง จากวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนอ่อนแอ และความต้องการสินค้าจากไทยลดลง
นายมนตรี กล่าวว่า ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย
1. เสนอให้ภาครัฐเร่งหารือกับสายเรือเพื่อเพิ่มจำนวนเรือขนส่งสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและเรือตลอดจนขอให้มีการชี้แจงแผนการเดินเรือและรายละเอียดในส่วนของค่าระวางเรือ (Freight rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน
2. เสนอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนไทย - เมียนมา รวมทั้งดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา
3. เร่งพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 2567 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมในการใช้จ่ายงบให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในปีงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนและจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ