เปิดข้อเสนอ ’สภาพัฒน์‘ หนุน ’เกิดมีคุณภาพ‘ - เพิ่มศักยภาพประชากรไทยในอนาคต

เปิดข้อเสนอ ’สภาพัฒน์‘  หนุน ’เกิดมีคุณภาพ‘ - เพิ่มศักยภาพประชากรไทยในอนาคต

รัฐเตรียมประกาศวาระแห่งชาติ ส่งเสริมการมีบุตร รับมือวิกฤติเด็กเกิดน้อย 10 ปี ลดต่อเนื่อง สศช.เผยหารือ “สาธารณสุข” เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ต้องการมีบุตรเพิ่ม ทำเด็กหลอดแก้ว แก้ปัญหามีมุตรยาก เพิ่มลดหย่อนภาษีลูกคนที่ 2 เพิ่มคุณภาพการศึกษา หนุนเป้าหมายเกิดมีคุณภาพ

KEY

POINTS

  • รัฐเตรียมประกาศส่งเสริมมีบุตรเป็น "วาระแห่งชาติ"
  • หลังไทยเผชิญวิกฤติเด็กเกิดน้อยต่อเนื่อง 10 ปี
  • "สภาพัฒน์" หนุนมาตรการเกิดมีคุณภาพ หลายหน่วยงานร่วมทำแผนครอบคลุม ทั้งการแพทย์ การศึกษา รวมทั้งมาตรการทางภาษี
  • รับการคลังมีข้อจำกัดในการเพิ่มมาตรการอุดหนุนเด็กแรกเกิด หลังรัฐมีรายจ่ายสวัสดิการหลายด้าน
  • คลังพร้อมชงลดภาษีหนุนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน
  • บีโอไอ ชี้ไทยมีมาตรการดึงแรงงานฝีมือ ศักยภาพสูงเข้าประเทศ 

รัฐบาลจะส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่” โดยคาดว่าประกาศเดือน มี.ค.2567 ซึ่งการประกาศดังกล่าวมีความท้าทายถึงมาตรการสนับสนุนการมีบุตร สวัสดิการที่รองรับและจูงใจการเกิด รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กให้พัฒนาทักษะได้ถึงวัยแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity)

การดำเนินการดังกล่าวเพื่อรองรับปัญหาที่ประเทศไทยมีปัญหาเด็กเกิดน้อยต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 485,085 ราย น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย ทำให้จำนวนประชากรลดลงตั้งแต่ปี 2564 

รวมทั้งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปคาดการณ์ว่าอีก 60 ปีจำนวนประชากรจะลดเหลือเพียง 33 ล้านคน ถือเป็นความเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานที่กระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ"  ว่าปัญหาเด็กเกิดน้อยลงนั้นรัฐบาลจะประกาศการส่งเสริมมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ภาครัฐทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานนำโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นที่ “การเกิดที่มีคุณภาพ” ซึ่งตรงกับเป้าหมายการพัฒนาประชากรที่ต้องมุ่งเพิ่มผลิตภาพการผลิต (productivity) ของวัยแรงงานในประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่แรงงานมีภาระแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

เปิดข้อเสนอ ’สภาพัฒน์‘  หนุน ’เกิดมีคุณภาพ‘ - เพิ่มศักยภาพประชากรไทยในอนาคต

“เด็กเกิดน้อยไม่ใช่ประเด็นแต่ต้องช่วยให้เด็กที่เกิดน้อยที่จะเป็นแรงงานในอนาคต สร้าง Productivity มากขึ้น ซึ่งคนน้อยแต่มี Productivity สูงจะทำให้เศรษฐกิจเดินต่อได้ เพราะมีความสามารถใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มผลผลิตได้”นายดนุชา กล่าว

สำหรับมาตรการภาครัฐที่ออกมาจะเน้นสนับสนุนการเกิดที่มีคุณภาพ ซึ่งสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีความพร้อมมีบุตรแล้วมีบุตรเพิ่ม

ลุ้นมาตรการอุดหนุนทำเด็กหลอดแก้ว

โดยสิทธิประโยชน์ที่จะออกมาพยายามทำให้ครอบคลุม เพื่อสร้างแรงจูงใจการมีบุตรเพิ่ม รวมถึงการหารือเพื่อออกมาตรการสนับสนุนการดูแลด้านการศึกษาเพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ ดังนี้

1.มาตรการการอุดหนุนค่าใช้จ่ายทำเด็กหลอดแก้ว สำหรับคู่แต่งงานที่ยังไม่มีบุตร หรือต้องการจะมีบุตรเพิ่ม (อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุข)

2.มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการมีลูกเพิ่มขึ้นอาจทำได้ เช่น มีลูก 1 คนได้ลด 60,000บาท แต่หากมี 2 คนอาจได้ลดหย่อน 1.5 แสนบาท แทนที่จะเป็น 1.2 แสนบาท ซึ่งอาจกระทบการจัดเก็บรายได้รัฐ และหากจะเพิ่มขึ้นต้องลดการลดหย่อนส่วนอื่นหรือกำหนดเพดานแต่ละครอบครัวลดหย่อนได้เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้กระทบการจัดเก็บรายได้

ยกระดับมาตรฐานศึกษา 

3.มาตรการการศึกษาให้มีคุณภาพทุกระดับและเพิ่มทักษะอัพสกิลรีสกิลระหว่างการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งภาครัฐมีงบประมาณจำกัด และการจัดเก็บรายได้ปัจจุบันไม่เอื้อให้ภาครัฐจัดทำมาตรการสนับสนุนได้มากนัก โดยสวัสดิการยังเป็นมาตรการแบบมุ่งเป้าที่กลุ่มเปราะบางแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือมีความขัดสน

4.มาตรการสำหรับครอบครัวที่มีความพร้อม ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจไม่ต้องให้สวัสดิการทั้งหมด แต่เป็นการเสริมบางส่วนในลักษณะร่วมจ่าย เช่น ค่าเรียนพิเศษ รวมถึงการช่วยเครื่องมือการเรียน เช่น คอมพิวเตอร์ 

โดยอาจช่วยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสเพื่อให้มาตรฐานแต่ละโรงเรียนขยับใกล้กัน ควบคู่การทำแอพพลิเคชั่นทางการศึกษาให้เด็กเรียนรู้กับครูเก่ง และการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องความต้องการในอนาคต

 

“การตัดสินใจจะมีบุตรหรือไม่อยู่ที่ครอบครัว ซึ่งต้องเริ่มที่การสร้างทัศนคติเพราะที่ผ่านมาหลายประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือสิงคโปร์ ที่รณรงค์แต่ไม่ได้สำเร็จมาก เพราะมีภาวะเครียดของการทำงาน และต้องการเป็นอิสระของคนยุคใหม่”

นอกจากนี้มีอีกทางเลือกที่ไทยที่เริ่มเตรียมความพร้อม โดยนำแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติมาเป็นแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งในประวัติศาสตร์จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่น และผนวกเอาคนต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เช่น คนจีนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งนำความเชี่ยวชาญมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อ

ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ

โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเดือน ม.ค.2567 ไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี รวม 13.2 ล้านคนคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด โดยแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งหมดในปี 2576 และเพิ่มขึ้นเป็น 31% (1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด) ในปี 2583 โดยการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยส่งผลต่อโครงสร้างประชากรที่มีวัยเด็กและวัยแรงงานลดลง

การเกิดใหม่ของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราเจริญพันธุ์ (TFR) ของไทยลดลงจาก 2.0 ในปี 2538 เหลือ 1.53 ในปี 2563 และคาดว่าเหลือ 1.3 ในปี 2583 

ขณะที่แนวโน้มประชากรไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยข้อมูลปี 2562 ประชากรเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 65.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีอายุเฉลี่ย 59.9 ปี ส่วนเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่อายุขัยเฉลี่ย 65.5 ปี 

ส่วนอัตราการเสียชีวิตเริ่มสูงกว่าอัตราการเกิดตั้งแต่ปี 2564 โดยมีเด็กเกิดใหม่ 544,570 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิต 563,650 คน โดยปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน รวมทั้งอุบัติเหตุจากถนน

เปิดข้อเสนอ ’สภาพัฒน์‘  หนุน ’เกิดมีคุณภาพ‘ - เพิ่มศักยภาพประชากรไทยในอนาคต

อุ้มคนแก่มากกว่าดูแลเด็กแรกเกิด

ทั้งนี้การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วทำให้ค่าใช้จ่ายการช่วยเหลือทางสังคมสูงขึ้นตามโครงสร้างประชากรและความจำเป็นในการดูแลค่าครองชีพประชาชน โดยค่าใช้จ่ายด้านสังคมรายการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสวนทางรายจ่ายสวัสดิการให้เด็กแรกเกิดที่ลดลง 

สำหรับการจัดสวัสดิการให้เด็กแรกเกิดปี 2563-2566 วงเงินเฉลี่ยปีละ 16,609.8 ล้านบาท ขณะที่ประมาณการปี 2567-2570 เฉลี่ยปีละ 15,381.9 ล้านบาท 

ส่วนผู้สูงอายุในปี 2563-2566 เฉลี่ยปีละ 84,364.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50.3% ของค่าใช้จ่ายสวัสดิการทางสังคมที่รัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน (หรือคิดเป็นประมาณ 2.75% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ปี 2567-2570 ผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้ค่าใช้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากช่วงปีฐาน (2563-2566) 38% ทำให้รัฐบาลแบกรับดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8,015 ล้านบาท โดยปี 2567-2570 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 116,428 ล้านบาท ส่งผลต่อแรงกดดันด้านการใช้จ่ายต่อฐานะทางการคลังเพิ่มขึ้น

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอเมื่อถึงวัยเกษียณ โดยพบว่าอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 39.3% ต่ำกว่าระดับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กำหนดไว้ 40% ของรายได้สุดท้ายก่อนเกษียณ แสดงให้เห็นว่าอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณของแรงงานไทยนั้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำ 

อีกทั้งยังมีแรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถมีอัตราการทดแทนรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ มีเพียงกลุ่มแรงงานบางกลุ่มเท่านั้นที่มีรายได้ที่เพียงพอ อาทิ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และข้าราชการ สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการจัดให้มีการสร้างความมั่นคงทางการเงินตั้งแต่ ช่วงวัยแรงงาน

“คลัง”พร้อมหนุนมาตรการภาษ่ี

แหล่งข่าวจากกระการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ประกาศใช้มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนคนไทยให้มีลูกมากขึ้น สำหรับผู้มีเงินได้หรือของผู้สมรสสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ คนละ 30,000 บาท 

ส่วนจะมีมาตรการภาษีอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ยังต้องรอพิจารณาข้อเสนอจาก สศช.และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกัน ทั้งนี้กระทรวงการคลังพร้อมพิจารณาสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการมีบุตรเพื่อลดปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมสูงวัย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.ได้เสนอมาตรการทางการคลังรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... รวมถึงร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ....

เปิดข้อเสนอ ’สภาพัฒน์‘  หนุน ’เกิดมีคุณภาพ‘ - เพิ่มศักยภาพประชากรไทยในอนาคต

“บีโอไอ”มั่นใจประชากรน้อยไม่กระทบลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า เรื่องของประชากรและแรงงานน้อยไม่ได้กระทบกับการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากนัก เพราะที่ผ่านมาบริษัทจำนวนมากมีการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ใช้ระบบออโตเมชั่น เพราะรู้ว่าหากพึ่งพาแรงงานเข้มข้นแบบในอดีตนั้นไม่สามารถแข่งขันได้บีโอไอเองก็มีมาตราการที่ทำให้บริษัทต่างๆสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการเปิดให้สามารถนำเข้าบุคลากรที่มีทักษะระดับสูงเข้ามาในไทยได้เพื่อมาช่วยเติมเต็มในสาขาที่เราสร้างคนไม่ทัน เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR visa) สำหรับต่างชาติ หรือ Smart Visa ส่วนการสร้างบุคลากรร่วมกับภาคเอกชนบีโอไอมีทั้งมาตรการภาษี และมาตรการสนับสนุนทางการเงิน (Training Grant) และมีการจับมือกับมหาวิทยาลัยในการทำแซนด์บ็อกเพื่อพัฒนาแรงงานตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยเพื่อป้อนสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการภาคเอกชน​

“เรื่องของแรงงานและประชากรไม่ได้เป็นประเด็นในการตัดสินใจของนักลงทุนมาก แต่บางสาขาที่ต้องเร่งผลิตแรงงานเพราะมีความต้องการมาก เช่น เรื่องของดิจิทัล ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ต้องเร่งสร้างเพราะเราโปรโมทอุตสาหกรรมนี้มาก รวมทั้งเรื่องของภาษาเป็นเรื่องที่นักลงทุนก็เรียกร้องว่าอยากให้แรงงานของเราพูดภาษาอังกฤษได้มากขึ้นเพราะเราต้องการโปรโมทการตั้งสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในไทย ซึ่งกิจการนี้ต้องการทักษะด้านนี้”