‘เศรษฐา’ ดันลงทุนรอบ 20 ปี หนุนโลจิสติกส์ฮับ หวังเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัย

‘เศรษฐา’ ดันลงทุนรอบ 20 ปี หนุนโลจิสติกส์ฮับ หวังเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัย

“รัฐบาล” ประกาศดึงลงทุนครั้งใหญ่รอบ 20 ปี ชดเชยทศวรรษที่สูญเสีย หวังไทยผงาดฮับโลจิสติกส์ อัพเกรดสนามบินทั่วประเทศ ดันสุวรรณภูมิติดท็อป 5 ของโลก ยันเดินหน้าอีอีซี เร่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไฮสปีดเทรนไทย-จีน “พรหมินทร์” มั่นใจหนุนเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัย

KEY

POINTS

  • “รัฐบาล” จ่อประกาศดึงลงทุนครั้งใหญ่รอบ 20 ปี เพื่อชดเชยทศวรรษที่สูญเสีย
  •  ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ โดยเร่งการลงทุนโครงการใหม่  และเร่งโครงการเดิมที่ล่าช้า 
  • วันที่ 1 มี.ค.นี้ นายกฯคิกออฟแผนอัพเกรดสนามบินทั่วประเทศ ตั้งเป้าดันสุวรรณภูมิติดท็อป 5 ของโลก ก่อนนำแผนไปโรดโชว์กับนักลงทุนที่ประเทศฝรั่งเศสเดือน มี.ค.นี้

จากการที่รัฐบาลโดย “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ขึ้นเวที “IGNITE THAILAND” ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision 8 ด้าน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก เคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว รักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน EV เทคโนโลยี และการเงิน ซึ่งการยกระดับการบิน-โลจิสติกส์ไทยถือเป็นอีกหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและและการดึงดูงเม็ดเงินจากต่างชาติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มี.ค.2567 จะแถลงแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบินการขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub) เพื่อเป็นการระเบิดศักยภาพของประเทศไทยและท่าอากาศยานไทย นำโดยกระทรวงคมนาคมที่ขานรับนโยบาย ตั้งเป้าหมายศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation hub) และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าแห่งภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 5 ของโลก และผลักดันสุวรรณภูมิติดสนามบินท็อป 5 ของโลกให้ได้

นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค โดยจะมีโครงการที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงการเดิม และผลักดันโครงการใหม่

‘เศรษฐา’ ดันลงทุนรอบ 20 ปี หนุนโลจิสติกส์ฮับ หวังเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัย

ทั้งนี้ในการเดินทางไปเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค.2567 นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอแผนนี้ต่อนักลงทุนให้เห็นโอกาสและทิศทางในการลงทุนในประเทศไทยเพื่อโปรโมทว่าประเทศของเรากำลังจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในรอบ 20 ปี

เร่งแผนศูนย์กลางการบินภูมิภาค

นายแพทย์พรหมินทร์ กล่าวว่า ส่วนแรกของการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นายกรัฐมนตรีจะได้มีการแถลงแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบินการขนส่งของภูมิภาค ซึ่งเป็นการขยายผลรายละเอียดจากที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงในงาน Ignite Thailand สัปดาห์ที่แล้ว แต่จะเป็นการลงรายละเอียดแผนการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) 

โดยแผนนี้ถือเป็นการผลักดันให้ไทยเป็นเมืองศูนย์กลางการบิน รัฐบาลจะใช้ศักยภาพและทรัพย์สินของคนประเทศไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะต้องทำทั้งยกระดับและ พัฒนาสนามบินที่มีอยู่ รวมทั้งการลงทุนขยายสนามบินแห่งใหม่เพิ่มเติม เช่น สนามบินล้านนา และสนามบินอันดามัน

นอกจากการยกระดับสนามบิน ยังมีโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่รัฐบาลจะผลักดัน ซึ่งเป็นการมองภาพรวมไม่ใช่โครงการใดโครงการหนึ่ง ซึ่งการเร่งรัดการลงทุนในโครงการที่ล่าช้า เพื่อให้ไทยเป็น Logistic Hub ให้ได้ โดยมีโครงการที่จะเร่งรัดเช่น ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน ที่มีความล่าช้ายืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งรัดให้เสร็จในรัฐบาลนี้ 

ยันเดินหน้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อเพราะนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนใหม่ก็ยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) 

รวมทั้งการขยายโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนและระบบรางเพื่อรองรับการเข้ามาของการลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยแหล่งเงินที่จะรองรับการลงทุนจะใช้เงินงบประมาณเท่าที่จำเป็น และดึงการร่วมลงทุนจากภาคเอกชนในรูปแบบ PPP

ลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี

‘เศรษฐา’ ดันลงทุนรอบ 20 ปี หนุนโลจิสติกส์ฮับ หวังเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัย

“รัฐบาลนี้กำลังชดเชยทศวรรษที่สูญเสียไป แม้ในระยะสั้นเราต้องการรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 17 – 20% ของจีดีพี แต่เรื่องของการลงทุนนั้นถือเป็นผลตอบแทนในระยะยาว (Last Long) ที่ประเทศจะได้รับ" 

ทั้งนี้ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพจะเป็นฮับของการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ได้ สิ่งที่รัฐบาลทำจะให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่รอบ 20 ปี โดยการเชิญชวนคนมาลงทุนให้ได้มากที่สุด เพื่อปรับเปลี่ยนให้เราสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากบรรยากาศการเมืองฟื้นเราต้องปรับตัวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการเดินเข้าไปหาตลาด และสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับประเทศไทย

สำหรับความคืบหน้าเรื่องของการชักชวนการลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) ยืนยันว่าโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อเนื่องและได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวต่างชาติจำนวนมากทั้งจากเยอรมันและสหรัฐ ส่วนจีนนั้นล่าสุดนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนมาไทยล่าสุดก็ได้ให้ความสนใจอย่างมาก และมีการขอข้อมูลของโครงการเพิ่มเติม 

รวมทั้งในการเดินทางไปเยือนฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรีจะไปโรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ และเชิญชวนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะสร้างบทบาทให้ประเทศไทยในเวทีโลกมากขึ้น

‘เศรษฐา’ ดันลงทุนรอบ 20 ปี หนุนโลจิสติกส์ฮับ หวังเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกสมัย

“เส้นทางคมนาคมทุกเส้นเป็นประโยชน์และความเจริญ ถ้าเป็นประโยชน์เราไม่ต้องให้ใครมาเร่ง เราจะเร่งด้วยตัวเราเองเพื่อสร้างเสน่ห์ เพราะเรามีผืนแผ่นดินไทยเป็นข้อได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์อยู่แล้ว หากใช้ไม่เป็นก็ซึมเศร้า หากคนเล่นเป็นก็จะไปได้มากกว่านี้ หน้าที่ของผู้นำคือ คือการนำและเชิญชวนให้คนเข้าใจไปด้วยกันเพราะฉะนั้นเราถึงมีการพูดเรื่อง Ignite Thailand ขึ้นมา”

เมื่อถามว่า Ignite Thailand ที่จะสำเร็จในปี 2573 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า แสดงว่าพรรคเพื่อไทยต้องการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัยใช่หรือไม่ นายแพทย์พรหมินทร์ ยิ้มกว้างก่อนกล่าวว่า

“ดูรอยยิ้มผมแล้วกัน”

 

ทอท.เร่งแก้ปัญหาสนามบินแออัด

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.ได้จัดทำแผนดำเนินงานและการสนับสนุนนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคแล้วเสร็จ พร้อมรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มี.ค.นี้

“ทอท.เราทำแผนเสนอท่านนายกฯ ไปหมดแล้ว รายละเอียดในแผนงานยังไม่สามารถเปิดเผยได้ อยากให้รอการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากท่านนายกฯ เอง” นายกีรติ กล่าว

รายงานข่าวจาก ทอท. เผยว่า แผนดำเนินงานบางส่วนของ ทอท.เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค แน่นอนว่าจะมีการบรรจุแผนลงทุนขยายขีดความสามารถของ 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีปัญหาความแออัดผู้โดยสารจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จ บริหารจัดการท่าอากาศยานให้ใช้ขีดความสามารถเต็มศักยภาพ รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี หลังเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

นอกจากนี้ ทอท.จะยังคงเร่งรัดโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก วงเงินราว 9 พันล้านบาท และส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก วงเงิน 9 พันล้านบาท โดย ทอท.ประเมินว่าหากพัฒนาโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 90 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่รองรับได้ 60 ล้านคนต่อปี