'หม่อมอุ๋ย' นำทัพกูรููพลังงาน จี้ 'เศรษฐา' แก้ 5 ปมร้อน ก่อนประเทศพัง
"หม่อมอุ๋ย" พร้อมด้วย "ณรงค์ชัย-คุรุจิต" ส่งจดหมายเปิดผนึก ร้องนายกฯ "เศรษฐา" เร่งแก้ 5 ปมร้อนราคาพลังงาน ก่อนที่ประเทศจะพัง ย้ำ นโยบาย "พลังงาน" สร้างความเสียหายปัจจุบันแล้วกว่า 2.2 แสนล้าน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมแถลงข่าวเรื่องการทำหนังสือเปิดผนึกเกี่ยวกับความเสียหายของนโยบายพลังงานที่เป็นมาและกำลังจะเป็นไปในรัฐบาลชุดนี้ ณ สถาบันคึกฤทธิ์ วันที่ 1 มี.ค. 2567
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วันนี้ (1 มี.ค. 2567) ถึงความเป็นห่วงในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง จากนโยบายพลังงานในหลายๆ เรื่องที่รัฐบาล ที่ปัจจุบันสร้างความเสียหายกว่า 2.2 แสนล้านบาท กระทบต่อหนี้สาธารณะประเทศ จากนโยบายค่าไฟและน้ำมัน ดังนั้นขอเสนอ 5 ด้าน คือ
1. รัฐบาลควรกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อคืนสภาพคล่องและลดหนี้ให้แก่กองทุนฯ ที่ปัจจุบันมีภาระหนี้สินกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท เพราะกระทรวงพลังงานกดราคาน้ำมันดีเซลลงจากลิตรละ 32 บาท เป็นลิตรละ 30 บาท และลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊ซโซฮอล์ลงอีกลิตรละ 2.50 บาท รวมถึงตรึงราคาแอลพีจีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนกองทุนฯต้องเข้าอุดหนุนเฉพาะดีเซลมากถึงเดือน 9 พันล้านบาท
ทั้งนี้ หากปล่อยไปเช่นนี้ หนี้ของกองทุนฯ จะชนเพดานหนี้ที่กฎหมายกำหนดกรอบไว้ขณะนี้ คือ 110,000 ล้านบาท หากอนาคตกองทุนฯ ชำระหนี้เองไม่ได้ รัฐบาลต้องนำเงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งประเทศไปล้างหนี้ดังกล่าว ประชาชนที่ไม่ใช้รถต้องรับภาระไปด้วย
2. รัฐบาลต้องดูแลราคาค่าไฟที่เหมาะสม และไม่ควรกระทบต่อสถานะของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่รับภาระต้นทุนค่าไฟ ล่าสุดจากนโยบายค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วว ทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 137,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 หากปล่อยไปเช่นนี้ ในที่สุดต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปล้างหนี้กฟผ.เพื่อให้ดำเนินกิจการต่อไปได้
3. รัฐบาลควรปล่อยให้ 6 โรงกลั่นปรับสูตรสำหรับคิดราคาน้ำมันอ้างอิงตามมาตรฐาน ยูโร5 สะท้อนต้นทุน ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศให้ไทยผลิตน้ำมันยูโร5 มีผลบังคับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 จนเอกชนลงทุนไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท ถึงปัจจุบันกระทรวงพลังงานนิ่งเฉย ไม่ยอมรับยูโร5 ไม่พิจารณาปรับราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่นจนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องขอให้ปรับสูตรราคาอ้างอิง หากรัฐบาลเพิกเฉย ผู้ค้าน้ำมันอาจกำหนดราคาขายหน้าปั๊มเอง มีผลเสียต่อผู้บริโภค และโรงกลั่นไม่ยอมลงทุนอะไรอีก กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน
4. การลดราคาน้ำมันของรัฐบาลกระตุ้นการใช้รถยนต์ จนกระทบต่อคุณภาพอากาศ ฝุ่นควัน PM 2.5 สวนทางต่อนโยบายรถไฟฟ้าสาธารณะ หรือยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จึงไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะลดปัญหาควันพิษหรือไม่
5. อยากให้รัฐบาลยกเลิกการปรับสูตรการคำนวนราคาก๊าซธรรมชาติใน พูลก๊าซ ใหม่ ที่นำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากเมียนมาและก๊าซแอลเอ็นจี โดยนำส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน พูลก๊าซ เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง มีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยกลับไปใช้สูตรเดิม
เพราะการปรับสูตร กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงแต่ทำให้ราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบพุ่ง 30-40% กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ใช้เวลาพัฒนามา 39 ปี โดยแนวทางนี้เป็นข้อเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีอำนาจกำหนดอัตราค่าบริการก๊าซ ธรรมชาติที่ใช้เป็นพลังงานไม่ใช่ราคาก๊าซที่ใช้เป็นวัตถุดิบ จึงสุ่มเสี่ยงจะใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย
"พวกผมได้ส่งหนังสือฉบับถึงนายเศรษฐา วันนี้ ประมาณ 11 โมงกว่า เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ เพราะนโยบายเหล่านี้มาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่พวกผมพยายามขอหารือ ส่งข้อเสนอ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จึงต้องขอพึ่งนายกรัฐมนตรี เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผล เสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศจนพัง เกิดวิกฤติได้ ทั้งประชาชนและภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของกระเทศ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว