"รัฐบาลเมียนมา"ประกาศใช้ค่าเงิน 3 อัตรา นักลงทุนต่างชาติทำธุรกิจยากขึ้น
สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชี้ จับตาหนุ่มสาวเมียนมาหนีทหารทะลักเข้าไทย หลังรัฐบาลประกาศเกณฑ์ทหาร เศรษฐกิจเมียนมาไม่กระเตื้อง หลัง 3 ปีรัฐประหาร นักลงทุนใหม่ไม่กล้าลงทุน ส่วนนักลงทุนเก่าชะลอลงทุน พบปัญหาใหม่ออกเกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินทำนักธุรกิจเสี่ยงใช้แลกเงินใต้ดิน
-
Key point
-สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาทำให้บรรยากาศการทำธุรกิจไม่ดีขึ้น
-รัฐบาลเมียนมาจะออกระเบียบสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ แต่ไม่ได้ทำให้มีการลงทุนมากขึ้น
-การออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารทำให้หนุมสาวเร่งขอพาสปอร์ตและวีซ่า เพื่อเดินทางเข้าไทยเพิ่มมากขึ้น
-มีการประกาศการใช้อัตราแลกเปลี่ยน 3 ทำให้นักธุรกิจที่เข้าทำธุรกิจไทยในเมียนมาต้องทำงานเหนื่อนมากกว่าเดิม
การรัฐประหารในเมียนมาครบ 3 ปี สถานการณ์ภายในประเทศมีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลต้องประกาศกฎหมายรับราชการทหาร สำหรับประชาชนผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 18-35 ปี และผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 18-27 ปี เป็นเวลา 2 ปีสะท้อนถึงความขัดแย้งที่อาจมีมากขึ้นระหว่างรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในเมียนมา ส่วนที่ลงทุนไปแล้วก็ต้องดำเนินธุรกิจต่อไป แม้ว่ารัฐบาลเมียนมาจะออกระเบียบต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ
แต่ก็ไม่ได้ตามที่ต้องการ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทุนเพราะความไม่แน่นอนในสถานการณ์ภายในประเมียนมาทำให้การลงทุนใหม่เกิดขึ้นน้อยหรือไม่มีเลย
รวมทั้งล่าสุดรัฐบาลเมียนมาประกาศการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้นักธุรกิจที่เข้าทำธุรกิจในเมียนมาต้องเหนื่อยกว่าเดิม โดยเมียนมาประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 3 อัตรา คือ
1.อัตราที่เป็นทางการที่รัฐบาลประกาศใช้ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 2,100 จ๊าด
2.อัตราที่ใช้กับเงินที่ได้มาจากการส่งออกสินค้า หรือ Earning Money 1 ดอลลาร์เท่ากับ 2,800 จ๊าด
3.อัตราที่มีการซื้อขายกันในตลาดทั่วไป 1 ดอลลาร์เท่ากับ 3,500-3,700 จ๊าด
สำหรับกฎระเบียบทั่วไปของการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ หากได้รับเงินจากต่างประเทศในอดีตทางการจะให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ได้รับจะต้องได้รับการแลกเปลี่ยนจากธนาคารในอัตราที่ทางการประกาศ 2,000 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกสินค้าไม่ต้องการรับเงินในประเทศ และไปเปิดบัญชีที่ต่างประเทศเพื่อได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย
รวมทั้งต่อมาทางการเมียนมาได้ประการมาตรการสัดส่วนการแลกเปลี่ยนรายได้จากการส่งออก (Export Earning) ว่า สินค้าทั่วไปที่ส่งออก สามารถใช้สัดส่วน อัตราทางการ (2,100 จ๊าด) 35% บวกกับ อัตราตลาด (3,500-3,700 จ๊าด) 65%เพื่อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องไปเปิดบัญชีทิ้งไว้ที่ต่างประเทศ เพื่อเมียนมาจะได้มีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพียงพอ
โดยยังมีการกำหนดให้มี “สินค้าเฉพาะ” เพื่อส่งเสริมให้มีการส่งออกอย่างถูกต้องตามกฏหมายมากขึ้น เช่น เมียนมาส่งออกยางพารา ให้จับคู่กับนำเข้าปุ๋ยเคมีหรือส่งออกข้าว ข้าวหัก ข้าวโพด ถั่ว จับคู่ นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีใช้ประกาศให้ใช้หลักเกณฑ์ 70 /30 กล่าวคือ อัตราตลาด (3,500-3,700 จ๊าด) 70% อัตราทางการ (2,100 จ๊าด) 30%
อย่างไรก็ตาม การจับคู่ส่งออกและนำเข้าสินค้าที่ทางการกำหนดดังกล่าว จะต้องดำเนินการผ่านสมาคมฯที่สินค้าดังกล่าวเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักธุรกิจต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจกับเมียนมา
นายกริช กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจก็ยังคงเหมือนเดิม โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องทางการเงินที่มีข้อจำกัดจากมาตรการของรัฐบาล รวมทั้งเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ขณะที่การลงทุนต่างประเทศนักลงทุนใหม่ก็ชะลอการลงทุน ไม่เว้นแม้แต่นักลงทุนไทยในประเมียนมา จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา
ทั้งนี้สถานการณ์รัฐประหารผ่านมา 3 ปี โดยล่าสุดเมื่อวันที่10 ก.พ.2567รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศกฎหมายรับราชการทหาร สำหรับประชาชนหนุ่มสาวทุกคน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
ดังนั้นทำให้คนหนุ่มสาวที่ไม่ต้องการเป็นทหารก็แห่ไปขอวีซ่า ทำพาสปอร์ต ซึ่งรัฐบาลเมียนมาก็ออกระเบียบว่า 1 วันจะขอพาสปอร์ได้กี่คน ซึ่งต้องการสกัดกั้นไม่ให้คนออกนอกประเทศเพื่อหนีการเกณฑ์ทหาร
ทั้งนี้ เมื่อการขอวีซ่าหรือการทำพาสปอร์ตยากขึ้นทำให้คนเมียนมาแห่สมัครมาเป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้ข้อตกลง MOU ระหว่างรัฐบาลประเทศไทยกับประเทศเมียนมา แต่รัฐบาลก็ไม่ต่อ MOU เดิม ทำให้ชาวเมียนมาไม่สามารถมาทำงานเป็นแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายได้ ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เพราะไทยจะขาดแรงงาน
แต่ในทางกลับกันแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายก็จะมากขึ้น และจะมีการหนีจากเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งตรงนี้รัฐบาลไทยต้องตระหนักและรีบออกมาตรการเพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองอย่าผิดกฏหมายรวมทั้งการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้วย
ส่วนที่ชาวเมียนมาจะหนีไปยังประเทศอินเดีย บังคลาเทศและจีนก็เป็นไปได้ยากมากว่าไทย โดยเฉพาะอินเดีย บังคลาเทศ เข้มข้นเรื่องของการลักลอบเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องหันมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะทำอย่างไรในเรื่องของการลักลอบ และการแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน