'พาณิชย์' รณรงค์ประชาชนบริโภคเนื้อหมูหลัง "หมูล้นตลาด"
กรมการค้าภายใน จับมือสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ รณรงค์บริโภคเนื้อหมู หลังหมูออกสู่ตลาดมากเกินความต้องการ เพื่อช่วยดูแลราคาให้กับเกษตรกร เผยแนวโน้มราคาอาหารสัตว์เริ่มปรับตัวลดลง หลังวัตถุดิบหลายตัวราคาลง
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ รณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยดูแลราคาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ที่ได้รับผลกระทบจากราคา เพราะขณะนี้ผลผลิตหมูมีชีวิตเกินความต้องการจากปกติจะมีหมูออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัว แต่ขณะนี้อยู่ที่ 5.8 หมื่นตัว จึงต้องหาทางเร่งระบายผลผลิตส่วนเกิน แม้ว่าในส่วนของกรมปศุสัตว์จะเร่งแก้ปัญหาตัดวงจรหมูด้วยการผลักดันให้ทำหมูหันไปแล้วส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ กรมยังได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ให้งดการจัดโปรโมชันลดราคาสินค้าเนื้อสุกรในช่วงนี้ เพราะราคาเนื้อหมูถูกอยู่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 130 บาท และหากมีการนำเนื้อหมูมาจัดโปรโมชัน เกรงว่าจะไปกดราคารับซื้อหมู และกระทบกับเกษตรกร
สำหรับสถานการณ์ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 67-68 บาท ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยง ยังคงขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่าอยู่ที่ กก.ละ 72 บาท ซึ่งการตัดวงจรหมู จะช่วยดึงราคาให้สูงขึ้น และกรมยังจะเข้าไปช่วยดูแลในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ พบว่า แนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง โดยขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ กก.ละ 10.26 บาท ปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งปี 12.67 บาท กากถั่วเหลือง เฉลี่ย ม.ค.-ก.พ.2567 กก.ละ 13.92 บาท ปีที่แล้ว กก.ละ 16.84 บาท ข้าวสาลี กก.ละ 7.74 บาท ปีที่แล้ว กก.ละ 8.23 บาท ปลาป่น กก.ละ 32 บาท ปีที่แล้ว กก.ละ 36.61 บาท
“กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากปรับลดลงต่อเนื่อง ก็จะคุยกับผู้ผลิตให้ปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งเท่าที่ติดตามดู ข้าวโพดทรงตัว ข้าวสาลีลดลง กากถั่วเหลือง ลดลง และคาดว่าจะลดลงอีก เพราะอาร์เจนตินา เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ส่วนปลาป่น ทรงตัวอยู่สูง แต่ก็ถูกกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้ เทียบกับปีที่แล้ว พบว่า มีการทยอยปรับลดราคาลงมาแล้ว”ร.ต.จักรากล่าว
สำหรับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ จากการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงกับโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีความต้องการ ก็พร้อมที่จะทำการเชื่อมโยงให้ต่อไป