ถนน 7 ชั่วโคตร 'พระราม 2' เตรียมปิดตำนานสร้างเสร็จปี 68

ถนน 7 ชั่วโคตร 'พระราม 2' เตรียมปิดตำนานสร้างเสร็จปี 68

“สุริยะ” สั่งคุมเข้มตรวจงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เป็นรายเดือน จี้กลุ่มรับเหมาทำงานล่าช้ากว่าแผน 50% จ่อปรับลดชั้นไปจนขึ้นบัญชีดำประมูลงานอนาคต ยันปี 2568 ปิดตำนานก่อสร้างทั้งหมด หันเดินหน้าพัฒนามอเตอร์เวย์นครปฐม - ชะอำ เพิ่มทางเลือกการเดินทาง

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” สั่งคุมเข้มตรวจงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เป็นรายเดือน
  • จี้กลุ่มรับเหมาทำงานล่าช้ากว่าแผน 50% จ่อปรับลดชั้นไปจนขึ้นบัญชีดำประมูลงานอนาคต
  • ยันปีหน้าปิดตำนานก่อสร้างทั้งหมด ทยอยแล้วเสร็จ มิ.ย.2568
  • หันเดินหน้าพัฒนามอเตอร์เวย์นครปฐม - ชะอำ เพิ่มทางเลือกการเดินทาง

โครงการก่อสร้างบนถนนพระรามที่ 2 จุดเริ่มต้นในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ราวปี 2513 ก่อนจะได้ฉายาเป็น “ถนน 7 ชั่วโคตร” เนื่องจากมีโครงการก่อสร้างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างขยายช่องจราจร ก่อสร้างสะพานข้ามแยก ทางยกระดับ ตลอดจนงานก่อสร้างทางพิเศษ หรือทางด่วน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้รับเหมาก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เพื่อเร่งรัดงานก่อสร้าง โดยระบุว่า ปัจจุบันโครงการบนถนนพระราม 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง จำนวน 4 สัญญา ภายใต้การดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

2.โครงการทางยกระดับ ทล.35 บางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร จำนวน 3 สัญญา ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.)

3.โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 เอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.3 กิโลเมตร จำนวน 10 สัญญา ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง (ทล.)

ซึ่งกระทรวงฯ ได้กำชับผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างทั้งหมดนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี 2568

โดยจากการหารือร่วมกับผู้รับเหมาเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่รับปากจะเร่งก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน มิ.ย.2568 มีเพียง 2 สัญญาในโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ประกอบด้วย ตอน 4 จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.25+734-กม.26+998 ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร รวมระยะทาง 1.264 กิโลเมตร และตอน 6 จุดเริ่มต้นบริเวณ กม.28+664-กม.29+772 ระยะทางรวมประมาณ 1.108 กิโลเมตร ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเดือน ธ.ค.2568

เนื่องจากงานก่อสร้างทั้งสองสัญญานั้นเป็นงานก่อสร้างทางเชื่อมต่อ (แลมป์) ขึ้น-ลง ซึ่งต้องใช้เวลาในการก่อสร้างมากกว่า แต่ถือได้ว่าภายในปี 2568 จะปิดตำนานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 คืนพื้นผิวการจราจรทั้งหมด งานก่อสร้างนี้จะเป็นเซ็ตสุดท้าย

นอกจากนี้ หลังหารือกับผู้รับเหมาทุกราย ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการ ประชุมร่วมกันในทุกๆ 2 เดือน รวมทั้งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและ กทพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ตรวจติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนรายเดือน หากพบว่ามีความล่าช้ามากกว่า 50% ให้ขอความร่วมมือผู้รับเหมาเร่งรัด

ทั้งนี้หากผู้รับเหมารายใดไม่ให้ความร่วมมือกระทรวงฯ จะใช้มาตรการพิจารณาปรับลดชั้น ไปจนขึ้นบัญชีดำ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าร่วมประมูลโครงการในอนาคต และร้ายแรง คือการบอกเลิกสัญญา เพราะที่ผ่านมากระทรวงฯ มีแต่หลักเกณฑ์พิจารณาผลงานผู้รับเหมา หากพบว่าผู้รับเหมารายใดผลงานดี ก็จะปรับเพิ่มชั้นไปจนสู่การเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ ดังนั้นหลังจากนี้หากผู้รับเหมาไม่สามารถเร่งรัดงานได้ตามแผน จะดำเนินการพิจารณาปรับลดชั้นลง

“ตอนนี้กระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ กำชับให้กรมทางหลวงกำหนดบุคคลเข้าไปคุมงานก่อสร้างแต่ละสัญญา ติดตามงานให้เป็นไปตามแผน เชื่อว่าการติดตามงานอย่างใกล้ชิด ผู้รับเหมาก็จะทำงานเสร็จ โดยเฉพาะเกณฑ์ที่เราจะกำหนดปรับลดชั้นผู้รับเหมา เรื่องนี้มีผลต่อการประมูลงานขนาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้รับเหมากังวลมาก”

รวมทั้ง การกำหนดเกณฑ์ปรับลดชั้นผู้รับเหมา ปัจจุบันได้มอบหมายให้กรมทางหลวงพิจารณาเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือนหลังจากนี้ ดังนั้นจะเริ่มคุมเข้มผู้รับเหมาได้ทันทีในเดือน เม.ย.นี้ โดยส่วนแรกจะเป็นการขอความร่วมมือ ตักเตือน ก่อนจะพิจารณาลดชั้นผู้รับเหมาที่ขึ้นบัญชีกับกรมบัญชีกลาง จากชั้นพิเศษลดลงเป็นชั้น 1 ซึ่งจะมีผลต่อการรับงานครั้งถัดไป หรือพิจารณาไปถึงการบอกเลิกสัญญา

ทั้งนี้ หากในกรณีมีผู้รับเหมาต้องถูกบอกเลิกสัญญาเพราะไม่สามารถก่อสร้างงานให้คืบหน้าตามแผนได้ กระทรวงฯ ยืนยันว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่องานก่อสร้างโครงการล่าช้าไปอีก เพราะปัจจุบัน ทล.มีหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักก่อสร้างสะพาน ที่มีความพร้อมในการเข้าไปดำเนินการก่อสร้างให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง

สำหรับ มาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหางานก่อสร้างที่ล่าช้า จากการหารือร่วมกับผู้รับเหมาทราบว่าปัญหาบางส่วนเกิดจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง เหลือเฉลี่ย 4-5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวงที่มีมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน และความเดือดร้อนของประชาชนในการจราจรติดขัด ทำให้กำหนดเวลาก่อสร้างเฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้น

หลังจากนี้กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงพิจารณาแผนขยายระยะเวลาในการก่อสร้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ในช่วงที่การจราจรน้อยกว่าปกติ และจะมีการเบี่ยงการจราจรหรือสลับช่องจราจร เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่เร็วขึ้นนั้น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และการจราจรต้องไม่ติดขัด

“จากการพูดคุยกับผู้รับเหมา ยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ก็ขอให้กระทรวงฯ เร่งเคลียร์เงินชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ซึ่งตอนนี้ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงไปเร่งสรุปตัวเลขในส่วนของโครงการพระราม 2 เพราะเราก็อยากจะเยียวยาผู้รับเหมา เพราะที่ผ่านมาเราก็กำหนดลงเวลาก่อสร้างด้วย”

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภาพรวมงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ตอนนี้งานก่อสร้างส่วนของทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานคู่ขนานสะพานพราม 9 ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% เตรียมเปิดบริการในเดือน ก.ค.นี้ ส่วนอีก 3 สัญญาที่เหลือ จะเร่งรัดก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.2568 พร้อมกับ 2 โครงการของ ทล. ทำให้งานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 แล้วเสร็จทั้งหมด

ขณะที่นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้เร่งรัดการศึกษาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ให้แก่ประชาชน โดยมอเตอร์เวย์สายนี้จะเชื่อมต่อจากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่เปิดให้บริการแล้ว ตัดผ่านมาทางนครปฐม และปลายทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอำเภอชะอำ

ปัจจุบันโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ และที่ผ่านมาพบว่ามีแนวเส้นทางที่อาจส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้ ทล.แบ่งระยะโครงการก่อสร้างออกเป็น 2 ส่วน เร่งดำเนินการช่วงที่สามารถทำได้ก่อน คือ ช่วงนครปฐม-วังมะนาว ส่วนช่วงวังมะนาว-ชะอำ ให้ศึกษาปรับเส้นทางลดผลกระทบประชาชน

ทั้งนี้จากมาตรการคุมเข้มผู้รับเหมาที่กระทรวงคมนาคมเตรียมนำมาบังคับใช้ปรับลดชั้นผู้รับเหมานั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุด้วยว่า ได้เรียกนางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง มาหารือเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และหามาตรการลงโทษบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ละทิ้งงานหรือทำให้งานก่อสร้างภาครัฐล่าช้า

นอกจากนี้ปัญหาการก่อสร้างบริเวณถนนพระราม 2 ที่มีความล่าช้า และส่งผลกระทบให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่ผู้รับเหมาไม่ทำตามกรอบเวลาที่กำหนดในสัญญา และการควบคุมงานขาดประสิทธิภาพโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ นอกจากที่จะมีการให้เลื่อนเกรดให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทำงานดีสำเร็จลุล่วงแล้ว หากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างใด ทำงานล่าช้า ไม่ส่งงานตามที่กำหนด หรืองานไม่ได้คุณภาพ ตนขอให้มีการตัดเกรดลงมาด้วย