เปิดแผนระบบขนส่ง 'ขอนแก่น' ลุยสร้างโมโนเรลสายแรกปี 68
ช ทวี เปิดความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนจังหวัดขอนแก่น ปักธงเดินหน้ารถไฟฟ้า LRT ภูมิภาคสายแรกในไทย นำร่องตอกเสาเข็มปี 2568 เส้นทางรอบบึงแก่นนคร 4.4 กิโลเมตร พร้อมเดินหน้าสายหลัก เส้นทางสำราญ – ท่าพระ เปิดบริการปี 2571
KEY
POINTS
- ช ทวี เปิดความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนจังหวัดขอนแก่น เล็งตอกเสาเข็มปี 68
- นำร่องรถไฟฟ้า LRT ภูมิภาคสายแรกในไทย เส้นทางรอบบึงแก่นนคร 4.4 กิโลเมตร
- ประกาศความพร้อมเดินหน้าสายหลัก เส้นทางสำราญ – ท่าพระ เปิดบริการปี 2571
- จับมือโรนิตรอน (Ronitron) สตาร์ทอัพไทย พัฒนาพลังงานสะอาดใช้กับรถไฟฟ้า
การพัฒนาส่วนภูมิภาค มีความจำเป็นเพราะรากฐานของเศรษฐกิจต้องเติบโตจากทุกภาคส่วน ไม่กระจกตัวอยู่แต่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพัฒนาระบบครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านขนส่งมวลชนในพื้นที่ส่วนภูมิภาค มีเงื่อนไขและกลไกการทำงานที่ต่างจากพื้นที่ส่วนกลางที่มีคำตอบสำหรับโจทย์ด้านจำนวนประชากร หรือ ความถี่ผู้ใช้บริการที่จะตอบโจทย์ต่อไป นั่นคือความคุ้มค่าการดำเนินโครงการ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมประเทศไทยจึงยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่และทันสมัยในพื้นที่ส่วนภูมิภาค
ปัจจุบัน ภาพรวมการเติบโตของเมือง ไม่จำกัดเฉพาะเมืองหลวงอีกต่อไป เนื่องจากการเชื่อมโยงกับพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน หรือ หัวเมืองนั้นๆมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มตอบโจทย์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่นั้นๆได้แล้ว
สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO หนึ่งในกลุ่มธุรกิจ ผู้ร่วมผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นยังคงเดินหน้าโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ซึ่งจะนำร่องในส่วนของเส้นทางรอบบึงแก่นนคร ระยะทางประมาณ 4.4 กิโลเมตร หรือที่เรียกว่า “แทรมน้อย” เพื่อทดสอบความคุ้มค่าและระบบที่จะนำมาให้บริการ
โดยขณะนี้โครงการศึกษาแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนราว 650 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้ลงทุนและมอบให้หน่วยงานท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจาก 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น คือ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลสำราญ รวมตัวจัดตั้งและจดทะเบียนภายในนาม บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนโครงการ
สำหรับโครงการแทรมน้อย คาดว่าจะได้รับจัดสรรงบประมาณในปลายปีนี้ และเริ่มลงทุนก่อสร้างในต้นปีหน้า ใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี จึงจะเปิดให้บริการในปี 2570 โดยนับเป็นระบบรถไฟรางเบา LRT สายแรกในไทยที่พัฒนาและเปิดให้บริการในภูมิภาค แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ท้องถิ่นต้องการพัฒนาขึ้น และเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
โดยหลังจากทดลองเปิดให้บริการแทรมน้อยแล้ว จังหวัดขอนแก่นยังคงเดินหน้าผลักดัน LRT สายหลักในเส้นทางสำราญ - ท่าพระ ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 26,963 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สถานะโครงการอยู่ในขั้นตอนต่อรองดอกเบี้ยกับสถาบันทางการเงิน รวมทั้งสำรวจพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการ โดยขั้นตอนเหล่านี้ไม่น่ามีปัญหาติดขัด และจังหวัดขอนแก่นก็มีความพร้อมที่จะลงทุนดำเนินการ ดังนั้นยืนยันได้ว่าโครงการ LRT ขอนแก่นจะเห็นเป็นรูปธรรมในเร็วๆ นี้
สุรเดช ยังกล่าวด้วยว่า กรอบการดำเนินงานสำหรับ LRT เส้นทางสำราญ – ท่าพระ คาดว่าจะเจรจาเรื่องการเงินแล้วเสร็จในปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มต้นงานก่อสร้างในช่วงปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปีแล้วเสร็จ เตรียมเปิดให้บริการในปี 2571 ซึ่งระหว่างนี้จังหวัดขอนแก่นยังศึกษาเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการจัดเก็บค่าโดยสารด้วยว่า จะมีการพัฒนานำเทคโนโลยี “สแกนใบหน้า” เพื่อหักค่าโดยสารจากบัญชีที่ลงทะเบียนไว้โดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จังหวัดขอนแก่นยังอยู่ระหว่างศึกษานำพลังงานสะอาดมาใช้ในโครงการรถไฟ LRT ขอนแก่นด้วย ซึ่งล่าสุด บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ โรนิตรอน (Ronitron) Startup สัญชาติไทยที่เป็นผู้พัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อร่วมกันผลิต SAF , Green Hydrogen, Green Naphtha และ Biochar ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด
โดยความร่วมมือนี้จะใช้เวลาศึกษาราว 4 เดือนแล้วเสร็จ เป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย จากการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกรมาแปลงเป็นพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ โดยในเฟสแรก คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based products) ได้ปริมาณเริ่มต้นที่ 26 ล้านลิตรต่อปี สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิได้ไม่น้อยกว่าปีละ 52,000 tonnes of CO2 ต่อปี และหากมีการขยายผลไปอีก จะสามารถส่งผลให้ทั้งโครงการช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศไม่น้อยกว่า 1 ล้าน tonnes of CO2
หากแผนพัฒนาขนส่งมวลชนในขอนแก่นเป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็จะเป็นโมเดล และกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาโครงการต่อเนื่องต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเอง และจังหวัดหัวเมืองขนาดใหญ่อื่น ซึ่งผลที่ได้คือคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และเเรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศที่ส่งมาจากส่วนภูมิภาคอย่างมีศักยภาพและอาจช่วยสามารถแก้ปัญหาความแออัดและเหลื่อมล้ำในเมืองหลวงได้ในอนาคต