‘สภาพัฒน์’ เดินหน้าแผน ‘SEA’ ชงตั้ง ‘กสย.’ นายกฯประธาน ประเมิน ‘โครงการใหญ่’
"สภาพัฒน์" จัดสัมนารับฟังความคิดเห็นขับเคลื่อนการประเมินผลทางยุทธศาสตร์โครงการสำคัญ เตรียมชงตั้งบอร์ดระดับชาติ "กสย." มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังคลอดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เตรียมจัดทำคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA เผยแพร่ประชาชน
เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุม
นายวิชญายุทธ กล่าวว่า สศช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน SEA และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดทำแผนด้วย SEA ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการนำ SEA ไปใช้ในกระบวนการจัดทำแผน รวมทั้งพัฒนากลไกทางกฎหมาย โดยจัดทำ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบรรจุวาระเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการประกาศใช้ต่อไป
ตั้งบอร์ด กสย.พิจารณาโครงการ
ภายหลังจากร่างระเบียบฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (กสย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในกำหนดแนวทางการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน SEA หลักเกณฑ์ แนวทาง คู่มือ และวิธีการของ SEA ติดตามและประเมินผล SEA และออกประกาศกำหนดรายชื่อของแผนตาม 8 ประเภทแผนที่กำหนดไว้
และจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ ภายใต้ กสย. คือ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและการมีส่วนร่วม และคณะอนุกรรมการด้านการติดตาม ประเมินผล และพัฒนากลไก SEA เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กสย. ในการกำกับ ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานเจ้าของแผน เพื่อให้การนำกระบวนการ SEA ไปใช้ในการจัดทำแผนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
สศช. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนหลักจึงได้มีการเตรียมความพร้อม โดยจัดทำคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA ขึ้น เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อร่างคู่มือการกำกับงานวิชาการฯ เพื่อให้คู่มือการกำกับงานวิชาการฯ ดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 84 คน เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บริษัทที่ปรึกษา สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม 8 ประเภทแผน ประกอบด้วย ด้านคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผังเมือง และเขตพัฒนาพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ผลที่ได้จากการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริงอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของการจัดทำแผน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนงาน SEA ของประเทศในระยะต่อไป
โครงการ 8 ประเภทที่ต้องทำ SEA
สำหรับโครงการทั้ง 8 ประเภทที่อยู่ในแผนที่ต้องทำ SEA ได้แก่
- แผนด้านคมนาคม
- แผนพัฒนาพลังงานและแผนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม
- แผนการบริหารจัดการแร่
- แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
- ผังเมือง ตามที่คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติกำหนด
- แผนบริหารจัดการลุ่มน้ำหรือแผนพัฒนาชายฝั่งทะเล
- แผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่พิเศษ
- แผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
ส่วนแผนหรือแผนงานในรายสาขาหรื่อเชิงพื้นที่ นอกเหนือจาก ที่กล่าวมาให้เป็นไปตามที่ กสย. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยรายละเอียดของระดับของแผนหรือแผนงาน ที่ต้องจัดทำ SEA จะมีการกำหนดร่วมกับหน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงานต่อไป
ทั้งนี้สำหรับหน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงาน นอกเหนือจาก 8 ประเภทนี้ที่ต้องการจัดทำ SEA สามารถดำเนินการได้ตามความเห็นชอบของหน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงานนั้นๆ