‘โปแตช’ เปลี่ยนมือดึงทุนนอก จับตา ‘จีน-ซาอุฯ’ ซื้อหุ้นเหมือง

‘โปแตช’ เปลี่ยนมือดึงทุนนอก จับตา ‘จีน-ซาอุฯ’ ซื้อหุ้นเหมือง

ก.อุตฯ เร่งเหมืองโปแตชเชิงพาณิชย์ เผย “จีน-ซาอุฯ” สนใจลงทุน ต้องเข้าเงื่อนไขธุรกิจของคนต่างด้าว หาทุนใหม่ไม่คืบเพราะแผนเริ่มผลิตไม่ชัด “ไอทีดี” เจรจาจีนขายหุ้นเหมืองอุดรฯ 90% “เหมืองชัยภูมิ” เร่งปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น “อีเอ” สนใจซื้อหุ้น “เหมืองโคราช” ขอปรับผัง

KEY

POINTS

  • ก.อุตสาหกรรม เร่งเหมืองโปแตชผลิตเชิงพาณิชย์ หลัง "เศรษฐา" นายกรัฐมนตรีเร่งรัดโครงการ
  • ปัจจุบันมีผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 รายใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ "ชัยภูมิ-อุดรธาณี-นครราชสีมา" กำลังผลิตรวมกันกว่า 3 ล้านตัน/ปี
  • ไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี 
  • "กพร." ระบุ หากดูศักยภาพของ 3 เหมืองเหมืองอุดรธานี มีแนวโน้มเปิดได้ก่อน ส่วนเหมืองนครราชสีมาขออนุญาตปรับแปลนผัง ส่วนเหมืองชัยภูมิอยู้ในขั้นตอนประนอมหนี้
  • "อดิทัต" เผย จีน-ซาอุฯ สนใจลงทุนโปแตชในไทย เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า อาจจะขาดแคลนและหายาก
  • "สมโภชน์" EA ยืนยันยังสนใจลงทุนซื้อหุ้นเหมืองโปแตช ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและยังไม่ได้ข้อสรุป

ที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากโครงการมีความล่าช้า โดยถ้ามีปัญหาเรื่องเงินทุนให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งหาผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อม

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ได้ประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช 3 ราย ซึ่งได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่

1.บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้รับประทานบัตรโครงการทำเหมืองแร่โปแตช อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ บนพื้นที่สัมปทานทั้งหมด 9,707 ไร่ โดยประทานบัตรมีอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 6 ก.พ. 2558-5 ก.พ. 2583 กระทรวงการคลังผู้ถือหุ้น 20% มูลค่าการลงทุน 63,800 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 1.23 ล้านตัน

2.บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ 9,005 ไร่ ประทานบัตรอายุ 25 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 7 ก.ค.2558-6 ก.ค.2583 กำลังการผลิตปีละ 134,000 ตัน มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านบาท

3.บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ผู้รับประทานบัตรในโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวน 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา โดยมีอายุประทานบัตร 25 ปี ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 ถึง 22 ก.ย.2590 กระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 10% มีแผนการผลิตปีละ 2 ล้านตัน มูลค่าการลงทุน 36,000 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอยู่ที่ 4 แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี โดยประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน มูลค่า 60,000 ล้านบาท เป็นปุ๋ยโปแตชเซียม 700,000 ตัน คิดเป็น 9,000 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันไทยมีศักยภาพในการผลิตโปแตสเซียมสูงมาก

สำหรับพื้นที่ไทยพบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ได้ใน 2 แหล่ง คือ แอ่งสกลนคร ประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานีและนครพนม ส่วนแอ่งโคราช ประกอบด้วย ขอนแก่น กาฬสินธุ์มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ

‘โปแตช’ เปลี่ยนมือดึงทุนนอก จับตา ‘จีน-ซาอุฯ’ ซื้อหุ้นเหมือง

เข้มเงื่อนไขนักธุรกิจต่างชาติถือหุ้น

นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กำหนดให้การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์โดยธุรกิจเหมืองแร่ถือว่าอยู่ในบัญชี 2 ดังนั้น นักธุรกิจต่างชาติจะประกอบกิจการจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 22

รวมถึงได้รับสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อขอดำเนินธุรกิจ ซึ่งการทำธุรกิจแร่โปแตชและแร่ลิเทียมขอสนับสนุนได้ ซึ่งมีหลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกฎหมายเพื่อดำเนินธุรกิจที่มีข้อบังคับไม่ให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติมีสิทธิ์มีเสียงในการดำเนินธุรกิจมากจนเกินไป ซึ่งมีหลายกิจการที่ต้องดำเนินการตามข้อบังคับดังกล่าว

เหมืองแร่อุดรมีโอกาสผลิตเร็วสุด

นายอดิทัต กล่าวว่า หากดูศักยภาพของ 3 เหมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นก่อนคือที่จ.อุดรธานี ซึ่งขณะนี้ที่ จ.นครราชสีมา ผู้ประกอบการได้ขออนุญาตปรับแปลนผัง เพราะเจอปัญหาในระหว่างหาแหล่งแร่แล้วพบชั้นน้ำใต้ดิน ดังนั้น กพร.จึงอยู่ระหว่างตรวจสอบที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และถ้าได้ข้อสรุปจะเสนอดำเนินการอนุมัติ

ในขณะที่บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (APOT) ยังมีประเด็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้แก่รัฐ ซึ่ง กพร.ฟ้องร้องบริษัทต่อศาลปกครอง โดยบริษัทขอเจรจาขอไกล่เกลี่ยและยังอยู่ระหว่างการเจรจาประนอมหนี้ ดังนั้น จึงยังสรุปไม่ได้ว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใหร่ และต้องรอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานอัยการสูงสุด

ซาอุฯสนลงทุนเหมืองโปแตช

นอกจากนี้ กรณีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรณี ซาอุดีอาระเบีย ในการประชุมฟอรั่มแร่ธาตุแห่งอนาคต (Future Minerals Forum หรือ FMF) เมื่อวันที่ 9-11 ม.ค. 2567 ที่ซาอุดีอาระเบีย ได้เชิญคณะนักลงทุนซาอุดิอาระเบียที่สนใจลงทุนไทยมาเยี่ยมชมเหมืองแร่โปแตชในไทย

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียสอบถามรายละเอียดเหมืองโปแตสในไทย อาทิ ปริมาณสำรองแร่และผลพลอยการทำเหมือง ซึ่งไทยพร้อมเปิดรับหากซาอุดีอาระเบียสนใจร่วมลงทุน โดยมีหลายประเทศที่มีแร่โปแตช แต่ไทยได้เปรียบด้านความยั่งยืนในการส่งออกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับการหารือกับซาอุดีอาระเบีย พร้อมที่จะรับเรื่องโปแตชที่ได้รับในการหารือไปเชิญชวนภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียที่สนใจ เช่น MA’ADEN Manara Minerals เข้ามาร่วมลงทุน

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยยูเรีย (N) และฟอสฟอรัส (P) ในขณะที่ไทยเป็นแหล่งแร่โพแทช (K) ที่สำคัญแหล่งใหญ่ในเอเชีย หากร่วมมือกันจะต่อภาพอุตสาหกรรมปุ๋ยได้ครบถ้วน ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียมองว่าไทยเป็นแหล่งความมั่นคงด้านอาหารและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านนี้ร่วมกันได้

“ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ผลิตโปแตชเยอะพอสมควร ซึ่งหน้าที่ของกรมฯ คือการเชิญชวนมาร่วมลงทุนในไทย ส่วนการเจรจาขึ้นกับกลุ่มธุรกิจที่จะตกลงกันเอง” นายอดิทัต กล่าว

จีนสนใจลงทุนโปแตชในไทย

นายอดิทัต กล่าวว่า ทราบข่าวมาว่ามีจีนสนใจทำธุรกิจเหมืองแร่ในไทย เพราะจีนอยากได้แร่โปแตชมาก เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า แร่โปรแทชอาจจะขาดแคลนและหายากขึ้น 

ทั้งนี้ไทยมีแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่และมีปริมาณสำรองจำนวนมาก คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในอีก 3-4 ปี มีกำลังการผลิตรวมกว่า 3 ล้านตันต่อปี และตลอดอายุโครงการจะผลิตแร่โปแตชได้มากถึง 100 ล้านตัน

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ระบุว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่กำลังจับตาดูบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตช โดยเฉพาะกรณีบริษัทจีนที่เข้ามาเจรจากับบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของกลุ่ม ITD 

นอกจากนี้ จีนมีความต้องการแร่โปแตชนำเข้าจำนวนมาก โดยเมื่อปี 2559 มีการพบแหล่งแร่โปแตชที่มณฑลชิงไฮ่ และมีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายที่มีศักยภาพในการลงทุน เช่น Qinghai salt lake potash

"ไอทีดี"เจรจาขายหุ้นให้ต่างชาติ

นายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล เลขานุการบริษัท บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องสถานะการลงทุนในโครงการเหมืองแร่โปแทช จังหวัดอุตรธานี กล่าวคือ บริษัทฯ ลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานีผ่านกลุ่มบริษัทย่อย โดยถือหุ้นในบริษัทย่อยดังกล่าว 90% และมีกระทรวงการคลังได้ถือหุ้น 10% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้ บริษัทย่อยได้รับอนุญาตประทานบัตรการทำเหมืองประเภทที่ 3 การทำเหมืองใต้ดิน ประเภทแร่โปแตช ลงวันที่ 23 ก.ย.2565 จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) 4 แปลง ของแหล่งแร่อุดรใต้ รวมเนื้อที่ 25,446 ไร่ มีระยะเวลาประทานบัตร 25 ปี โดยบริษัทย่อยกำลังพัฒนาโครงการภายใต้กรอบของประทานบัตรที่ได้รับ รวมถึงการดำนินการจัดการแผ่นงานพัฒนาในละเอียด และบริษัทฯ กำลังพิจารณาคัดเลือกและเจรจาผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาลงทุนบางส่วน

รายงานข่าว ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2567 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ITD กำลังพิจารณาขายหุ้น 90% ในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด วงเงินราว 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 17,900 ล้านบาท โดย ITD ทำงานร่วมกับที่ปรึกษา และเจรจาผู้ซื้อที่มีศักยภาพ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงผู้ซื้อจากจีนด้วย โดยการเจรจากำลังดำเนินอยู่และอาจไม่นำไปสู่ข้อตกลงก็ได้

ทั้งนี้ บริษัทต้องขออนุญาตเปิดการทำเหมืองภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับประทานบัตร และคาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ สำหรับภาพรวมมูลค่าเงินลงทุนตลอดโครงการอยู่ที่ 36,000 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีแรกจะลงทุนเจาะอุโมงค์ และก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40% ของโครงการทั้งหมด อยู่ที่ 13,600 ล้านบาท

โดยพื้นที่คำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีสัดส่วนแร่ 1 ส่วน ต่อเกลือ 2 ส่วนและยังถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในจำนวนคำขอทั้งหมด 3 ราย อยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี โดยประเมินว่าจะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการอยู่ที่ 33.67 ล้านตัน

เหมืองชัยภูมิเปิดเชิงพาณิชย์ปี 71

นายภาสิต ลี้สกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (APOT) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าโครงการเหมืองโปแตชชัยภูมิ ขณะนี้ APOT ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการเรียบร้อยแล้ว เหลือรายละเอียดเล็กน้อยจะดำเนินการได้ สรุปมีความคืบหน้าราว 90%

“การหาพันธมิตรใหม่เข้ามาเสริมเพื่อให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นแข็งแกร่งขึ้นนั้น มีผู้ร่วมทุนหลายรายสนใจทำหนังสือสอบถามความคืบหน้าซึ่งตอนนี้ใกล้ไฟนอลแล้ว ซึ่งสัดส่วนงบลงทุนปรับลดลงมา 40% จากสมัยก่อนระดับ 5-6 หมื่นล้านบาท จะเหลือราว 3 หมื่นกว่าล้านบาท และตั้งเป้าผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปี 2571 หรือต้นปี 2572 มีกำลังการผลิตที่ 1.2 ล้านตันต่อปี”

EA เจรจาซื้อหุ้นเหมืองโปแตชชัยภูมิ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า บริษัทฯ มีความสนใจในการร่วมลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจเหมืองโปแตช ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและยังไม่ได้ข้อสรุป

ก่อนหน้านี้ EA ออกมาชี้แจงถึงเหตุผลที่สนใจลงทุนเหมืองแร่โปแตช และยอมรับว่าได้เจรจากับ TRC ที่ได้ประทานบัตรเหมืองชัยภูมิเพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและใช้ปุ๋ยค่อนข้างมาก โดยนำเข้าปุ๋ยเข้ามาทั้งหมดจึงทำให้มองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนเพื่อที่จะช่วยให้เกิดต้นทุนปุ๋ยถูกลง ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริงจะทำให้ EA มีธุรกิจใหม่เข้ามาเพิ่มด้วย

ผู้ลงทุนซื้อหุ้นห่วงแผนเริ่มผลิตไม่ชัด

แหล่งข่าวจากผู้สนใจร่วมลงทุนเหมืองโปแตช กล่าวว่า สนใจร่วมทุนทั้งโปแตชในอุดรและชัยภูมิเพราะมีแร่ปริมาณที่มาก ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจร่วมลงทุนหลายราย โดยเหมืองโปแตชชัยภูมิรอเพียงหนังสือยืนยันการปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษให้รัฐ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับโครงสร้างไปเมื่อช่วงต้นปี 2566 เข้าใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้อนุมัติ

“สนใจลงทุนทุกเหมือง แต่จะดูเหมืองที่เป็นไปได้มากสุดและรอให้มีความพร้อมก่อนประกาศการลงทุนอย่างเป็นทางการ เพราะหากต้องลงทุนก่อนโดยที่ยังรันกิจการไม่ได้ตามวิสัยนักลงทุนไม่นิยมทำกัน อีกทั้ง สิ่งที่นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจเพราะนายกรัฐมนตรีมีนโยบายเร่งและลงพื้นที่ไปดูเหมืองโปแตชด้วยตัวเอง” แหล่งข่าว กล่าว