เปิดเงื่อนไขค่าไฟ พ.ค.-ส.ค. 67 จ่าย 4.18 บาท/หน่วย ต้องคืน 'กฟผ.' เท่าไหร่?

เปิดเงื่อนไขค่าไฟ พ.ค.-ส.ค. 67 จ่าย 4.18 บาท/หน่วย ต้องคืน 'กฟผ.' เท่าไหร่?

กกพ. เปิดรับฟังค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท ค่าไฟฟ้าต่ำสุดเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย (เท่าเดิม) สะท้อนต้นทุน LNG ขาลง

KEY

POINTS

  • "กกพ." เปิด 3 สมมติฐาน จ่ายคืนภาระค่า Ft ที่ กฟผ. แบกรับไว้เกือบแสนล้าน แบ่งเป็น 3 ราคา ที่ 4.18 - 5.4 บาทต่อหน่วย ก่อนรับฟังความคิดเห็น
  • กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว 99,689 ล้าน เป็นค่าไฟเรียกเก็บ 5.4357 บาทต่อหน่วย
  • กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด จำนวน 24,922 ล้าน เป็นค่าไฟเรียกเก็บ 4.3405 บาทต่อหน่วย
  • กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด ๆ ละ จำนวน 14,000 ล้าน เป็นค่าไฟเรียกเก็บ 4.1805 บาทต่อหน่วย 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกที่ลดลงเนื่องจากผู้ซื้อ LNG รายใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีปริมาณสำรอง LNG เพียงพอแล้ว ทำให้ราคา LNG ในตลาดโลกและในตลาดเอเชียลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในรอบ พ.ค. - ส.ค. 2567 ลดลงต่ำกว่ารอบ ม.ค. - เม.ย. 2567 อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการคืนภาระคงค้าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเสริมสภาพคล่องและรักษาความมั่นคงพลังงานในระยะยาว กกพ. จึงพิจารณาค่าเอฟทีเรียกเก็บรอบ พ.ค. - ส.ค. 2567 ในอัตรา 39.72 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมคืนหนี้ กฟผ. 14,000 ล้านบาท ใน 7 งวด ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรอบ พ.ค. - ส.ค. 2567 ยังคงรักษาระดับอยู่ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ตามที่ กฟผ. เสนอ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งที่ 11/2567 (ครั้งที่ 896) เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 มี.ค. 2567 ใน 3 กรณี ดังนี้  

เปิดเงื่อนไขค่าไฟ พ.ค.-ส.ค. 67 จ่าย 4.18 บาท/หน่วย ต้องคืน \'กฟผ.\' เท่าไหร่?

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว) แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 5.4357 บาทต่อหน่วย

 

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567  เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.3405 บาทต่อหน่ว

กรณีที่ 3 (ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด) แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567  เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. – ส.ค. 2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. – ส.ค. 2567

“ปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค - ส.ค. 2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย. 2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย"

อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมายังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้า และยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย

ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 – 22 มี.ค. 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

นอกจากนี้ หากมองระยะยาวใกล้ถึงช่วงเวลาที่ไทยต้องปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าฐานในรอบ 4 ปี จากเดิมที่เรียกเก็บ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยมีโอกาสปรับขึ้นราว 4 บาทต่อหน่วย เพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงาน โดยแนวทางการปรับค่าไฟฟ้าฐานของไทยจะปรับทุก 4 ปี นอกจากดูต้นทุนพลังงาน กกพ.จะพิจารณาจากการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า ฯ ทีมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สะท้อนตันทุน แต่การปรับค่าไฟฟ้าฐานจะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะต้องหามาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างไร