ค่าระวางเรือพ้นจุดสูงสุด ไทยหวังวิกฤติทะเลแดง ‘คลี่คลาย’
สรท. เผย ค่าระวางเรือลดลงเผยปรับลดลงเหลือ 1-2 เท่าจากที่พุ่งสูง 4-5 เท่า หลังวิกฤติทะเลแดง คลี่คลายไม่ขยายวงกว้าง แต่ยังวางใจไม่ได้ต้องจับตาสถานการณ์ต่อไป ด้านกกร.ชี้ค่าระวางเรือผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย ตั้งแต่เกิดสถานการณ์วิกฤติในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ (Bab el-Mandeb Strait) ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง
ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2566 ได้ส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาของค่าระวางเรือ ,ระยะเวลาการเดินเรือ ,การจองพื้นที่ในเรือหรือ bookingspace เรือ โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นสูงมากถึง 4-5 เท่า จากราคาปกติในการส่งสินค้าไปยุโรป ถ้าเป็นตู้สั้น 1,100 ดอลลาร์ พุ่งขึ้นไปถึง 4,000-5,000 ดอลลาร์
แต่ปัจจุบันลงมาเหลือ 2,500 ดอลลาร์ แต่ค่าระวางเรือที่สูงขึ้นก็ยังไม่สูงเท่าช่วงเกิดวิกฤตโควิด -19 นอกจากผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ยังมีปัจจัยจากการเร่งส่งออกก่อนเทศกาลตรุษจีน และความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลรอมฎอน ทำให้ค่าระวางเรือไปบางภูมิภาคปรับสูงขึ้นตามความต้องการ
"ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลงไปมากแล้วและอยู่ในวงที่จำกัด และยังมีเรือขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดงอยู่ เช่น Cosco, Evergreen และ Maersk"
รวมทั้งปัจุบันมีเรือขนส่งสินค้าผ่านทะเลแดง 50 ลำต่อวัน จากเดิม 100-120 ลำต่อวัน ส่งผลทำให้ค่าระวางเรือปรับลงเหลือ 1-2 เท่า ช่วยผ่อนคลายต้นทุนค่าขนส่งสินค้าลงได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้มองได้ว่าค่าระวางเรือได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และค่าระวางเรือยังมีแนวโน้มลดลงในช่วง “รอมฎอน” ที่เป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงลง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตามก็ยังคงวางใจไม่ได้ในสถานการณ์ความขัดแย้งยังต้องฝ้าระวังต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีการปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ คาดเดาได้ยาก คงประมาทไม่ได้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ผู้ส่งออกก็บริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ในช่วง 1-2 เดือนข้างคงต้องดูปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย เช่น การส่งออกของจีนที่จะมีมากขึ้นหรือไม่ เพราะจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกจะมีการนำเข้าและส่งออกมากขึ้นแค่ไหน และการฟื้นตัวของภาคการผลิตของยุโรปต่อเนื่องหรือไม่ แต่หากจะมีการปรับขึ้นก็เชื่อว่าคงไม่สูงมากเท่ากับในช่วงต้นเดือน ม.ค.2567
“สถานการณ์มีความไม่แน่นอน คาดเดาได้ยาก หากสถานการณ์ยังทรงตัวอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำให้ค่าระวางเรือก็จะไม่สูงมากนัก ซึ่งปัญหานี้จะไม่ใช่ปัญหาหลักของการส่งออก แต่ปัญหาหลักจะไปอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกไม่น่าจะติดลบ แต่จะบวกเท่าไร คงต้องประเมินอีกครั้งในช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้” นายชัยชาญ กล่าว
รายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 ได้มีการประเมินสถานการณ์ค่าระวางเรือ โดยเห็นว่า ค่าระวางเรือผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับข้อมูลของ กกร.ระบุว่า ค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์มีการปรับลดลงในช่วงปลายเดือน ก.พ.2567 ประมาณ 5-7 % เป็น 2,109 ดอลลาร์ต่อทีอียู หลังจากพีคสุดในช่วงปลายเดือนม.ค.ที่อยู่ราว 2,239 ดอลลาร์ต่อทีอียู ส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวของสายเรือ เช่น การเพิ่มจำนวนของตู้ขนส่งสินค้า
อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS คาดว่าค่าระวางเรือที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่อาจบรรเทาลงได้บ้างจากซัพพลายเรือที่มากขึ้น โดย BOMCO คาดว่าในปี 67 เรือจะเพิ่มขึ้นราว 6.8 % ขณะที่Demand การขนส่งทางเรือจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.5 % อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วนยังหันไปใช้บริการทางอากาศและทางบกอีกด้วย
ขณะที่ The World Bank ประเมินว่า อุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางเรือจะยังสามารถรองรับอุปสงค์การขนส่งสินค้าที่ยังไม่สูงนักในเดือน ม.ค.-ก.พ.2567 ได้ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การโจมตียังอยู่ต่อไปในเดือน มี.ค.-เม.ย.ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขนส่งสินค้าเป็น seasonal rebound อาจจะก่อให้เกิด supply chain crisis เหมือนช่วงปี 2564-2565 ได้