BTS ลุ้น กทม.เคลียร์หนี้ 5.3 หมื่นล้าน รอศาลปกครองชี้ขาด 'ค่าจ้างเดินรถ'
"บีทีเอส" ลุ้น กทม.เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 5.3 หมื่นล้านบาท หลังทยอยจ่ายก้อนแรกค่างานจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้า 2.3 หมื่นล้านบาท ภายใน มี.ค.นี้ เตรียมนำเงินไปใช้หนี้สะสมที่ครบกำหนดชำระ จับตาศาลปกครองสูงสุดตัดสินหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรวม 3 หมื่นล้านบาท
KEY
POINTS
- "บีทีเอส" ลุ้น กทม.เคลียร์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจบทั้งหมด 5.3 หมื่นล้านบาท
- กทม.เตรียมทยอยจ่ายหนี้ก้อนแรกค่างานจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้า 2.3 หมื่นล้านบาท ภายใน มี.ค.นี้
- "บีทีเอส" เตรียมนำเงินไปใช้หนี้สะสมที่ครบกำหนดชำระ พร้อมเสริมสภาพคล่อง
- จับตาศาลปกครองสูงสุดตัดสินหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรวม 3 หมื่นล้านบาท
ปัญหาการแก้ปัญหาหนี้สะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน โดยที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการนำประเด็นการต่อสัมปทานให้บีทีเอสเพื่อแลกกับหนี้สะสมหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหลังจากที่หนี้พร้อมดอกเบี้ยมีวงเงินสูงขึ้นต่อเนื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย
1.หนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 23,000 ล้านบาท
2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า (O&M) สายสีเขียวส่วนต่อขยาย 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการใช้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครเพื่อจ่ายหนี้ โดยเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 สภากรุงเทพมหานครได้ลงมติ 44 เสียง เพื่ออนุมัติจ่ายเงินภายใน 2 เดือน ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 40,000-50,000 ล้านบาท มาชำระหนี้ดังกล่าว
ล่าสุดวันที่ 13 มี.ค.2567 กรุงเทพมหานครได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 จำนวน 23,488 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยาย ดังนี้
ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง , สะพานตากสิน-บางหว้า
ส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ , หมอชิต-คูคต
สำหรับการจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าดังกล่าว ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จและครบกำหนดชำระให้ BTSC ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการเจรจาตาม ม.44 โดยมีขอบเขตงานครอบคลุมระบบจัดเก็บตั๋ว ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร ระบบจ่ายไฟ ระบบศูนย์ควบคุมและสั่งการ ระบบความปลอดภัย
รวมทั้งกรุงเทพมหานครได้ระบุถึงความจำเป็นในการชำระเงินให้ BTSC เนื่องจากมีภาระดอกเบี้ยหากไม่ชำระตามกำหนด รวมถึงเป็นส่วนสำคัญต่อระบบการเดินรถให้ต่อเนื่อง และกรุงเทพมหานครควรเป็นเจ้าของสิทธิ์เพื่อมีอำนาจต่อรองการจัดการเดินรถ
กทม.จ่ายหนี้ติดตั้งระบบภายใน มี.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 จำนวน 23,488 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้รับสัมปทานและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกรุงเทพมหานครคาดว่าจะสามารถจ่ายหนี้ส่วนดังกล่าวได้ภายในเดือน มี.ค.2567
รวมทั้งกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างจัดสรรรายละเอียดของจำนวนหนี้ให้รอบคอบที่สุดก่อนจ่ายให้เอกชน ซึ่งคาดว่าจะมีการจ่ายหนี้ให้กับเอกชนในครั้งเดียวตามจำนวนดังกล่าว โดยเป็นเงินจากรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528
สำหรับการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) มีมติ 44 เสียง เพื่ออนุมัติการจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับเอกชนภายใน 2 เดือน
โดย กทม.จะนำเงินสะสมจ่ายขาดที่มีอยู่ 4-5 หมื่นล้านบาท มาชำระค่างานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวม 23,488 ล้านบาท
“บีทีเอส” จะนำเงินไปเคลียร์หนี้สะสม
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา BTSC ได้มีการหารือกับกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง โดยจะรวบรวมรายละเอียดจำนวนหนี้สินให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งได้ข้อสรุปจำนวนหนี้ตรงกันที่ประมาณ 23,000 ล้านบาท
โดยกรุงเทพมหานครยืนยันว่าจะจ่ายหนี้ส่วนนี้ให้กับ BTSC ในครั้งเดียวภายในเดือน มี.ค.2567 เพราะมีเงินสะสมจ่ายขาดที่พร้อมนำมาดำเนินการอยู่แล้ว
ขณะที่ทาง BTSC ได้เตรียมนำเงินส่วนนี้ไปชำระให้กับเจ้าหนี้ที่ครบกำหนด อาทิ เงินกู้สถาบันการเงิน และหนี้จากการออกพันธบัตร เป็นต้น โดยการชำระหนี้ส่วนนี้จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น
อีกทั้งการรับชำระหนี้งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จะส่งผลให้หนี้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวลดลง โดยจะยังคงเหลือเพียงหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาดหนี้เดินรถ
นอกจากนี้ปัจจุบันหนี้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ได้มีการยื่นฟ้องและอยู่ในขั้นตอนศาลปกครองพิจารณา แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันจ่ายหนี้ให้กับ BTSC จำนวน 11,755.06 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
2.หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ส่วนที่ 2 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด จ่ายหนี้เพิ่มอีกประมาณ 11,068.5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565
รายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า ขณะนี้มีคดีเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่อยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดพิจารณา คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 ระหว่าง BTSC ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีระหว่างกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (ผู้ถูกฟ้องคดี 2) ซึ่งมีข้อมูลการฟ้องร้องในประเด็นไม่ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา โดย BTSC ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ตุลาการชี้ให้จ่ายหนี้ตามสัญญา
สำหรับคดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2566 ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นให้ยืนตามศาลปกครองกลาง ที่มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้ให้คู่ความสองฝ่ายชี้แจงพยานหลักฐานในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา และถือว่ามีข้อมูลครบถ้วนในการพิจารณา
รวมทั้งตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าหนี้ตามที่ฟ้องมีการชำระมาแล้ว โดยรัฐไม่ได้ปฏิเสธหนี้สินและดอกเบี้ย ส่วนการระบุถึงกรณีที่มีการร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงถึงเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ซึ่งยังไม่มีการสรุปว่าการทำสัญญาดังกล่าวถูกหรือผิด
ส่วนในประเด็นที่รัฐระบุถึงเหตุของการไม่ชำระหนี้ เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งกำหนดให้มีการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยในประเด็นนี้จะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ชำระหนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ เมื่อตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นต่อคดีเรียบร้อย ต่อไปศาลปกครองสูงสุดจะนัดอ่านคำพิพากษา
กทม.อุทธรณ์ศาล 4 ประเด็น
นอกจากนี้ การยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2565 ได้ระบุถึงเหตุผลการอุทธรณ์รวม 4 ประเด็น ประกอบด้วย
1.กรุงเทพมหานคร ไม่สามารถชำระหนี้สินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขการเจรจาตามคำสั่งเดิมของหัวหน้า คสช. นอกจากนี้กรุงเทพมหานครไม่มีภาระต้องชำระค่าดอกเบี้ย เนื่องจากสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่ได้มีการระบุไว้
2.การจ้างเดินรถส่วนต่อชยายที่ 2 ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากกรุงเทพมหานครเพียงมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมไปดำเนินการต่อ โดยไม่ได้ทำสัญญาและไม่ได้เสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเพื่อเห็นชอบงบประมาณก่อน ดังนั้นจึงไม่ควรมีการก่อภาระหนี้ผูกพันได้
3.กรุงเทพมหานครมีการทำสัญญาแค่กับกรุงเทพธนาคมโดยกรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของกรุงเทพธนาคม ดังนั้นเอกชนไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรุงเทพมหานคร
4.กรุงเทพมหานคร พบว่ามีข้อผิดปกติในสูตรคำนวณค่าโดยสารตามสัญญาซึ่งอาจทำให้มูลค่าหนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้