หนี้ข้าราชการพุ่ง กู้แบงก์ - สหกรณ์ทะลุ 5 ล้านล้าน ‘เศรษฐา‘ สั่งเร่งแก้ปัญหา
"เศรษฐา"เปิดเวทีฟังคืบหน้าแก้หนี้ข้าราชการ ขอบคุณสหกรณ์ กรุงไทย - ออมสิน ช่วยลดดอกเบี้ย แม้แบงก์ชาติยังไม่ปรับลด ชี้ต้องเร่งแก้หนี้ข้าราชการก่อนปัญหาลาม เผยตัวเลขหนี้ข้าราชการกู้แบงก์และสถาบันการเงินทะลุ 5 ล้านล้าน ชี้ต้องเร่งแก้หนี้เรื้อรัง - สร้างรายได้เพิ่ม
วันนี้ (15 มี.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินเงินกู้แก่บุคลากรส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ โดยมีผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานของรัฐ 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนผู้บัญชาการทหารบก ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ) กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ประธานสมาคมธนาคารไทย) ร่วมแถลงข่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการรับฟังการแถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้แก่บุคลากรของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (15 มี.ค.) ว่า ปัญหาหนี้สินข้าราชการเป็นปัญหาที่มีข้าราชการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ของประเทศ หากข้าราชการมีหนี้สินล้นพ้นตัวชักหน้าไม่ถึงหลัง ทำงานเท่าไหร่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เพราะดอกเบี้ยที่พอกพูนขึ้นนั้นอาจเป็นหายนะของประเทศ เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาที่ตาม บางส่วนอาจหันไปหาสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยาเสพติด หรือทุจริตประพฤติมิชอบ
ตอนนี้มาตรการต่างๆที่นำมาแก้ไขปัญหาเช่นการกำหนดให้มีการหักเงินเดือนข้าราชการให้เหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือนที่ได้รับเพื่อให้มีเงินในการดำรงชีพได้ รวมทั้งการลดดอกเบี้ยซึ่งก็ต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่ช่วยลดดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลดภาระของข้าราชการที่มีการกู้หนี้ยืมสินซึ่งถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ลดดอกเบี้ยแต่หน่วยงานของท่านก็ลดลงมาซึ่งต้องขอขอบคุณที่ช่วยใส่ใจในเรื่องนี้
นายกฯ ฝากให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการเชื้อเชิญสหกรณ์ให้เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้หนี้สินก็ไม่ได้ลดลง ขอให้พยายามมากขึ้น ตนเองเข้าใจขีดจำกัดการทำงาน แต่ในเมื่อเป็นผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ต้องพยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ขอให้ทุกคนมีความทะเยอทะยานในการช่วยเหลือประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากได้ลงในพื้นที่จะเข้าใจถึงความยากลำบากของพี่น้องประชาชน ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหารายได้เพิ่มเติมให้กับประชาชน เรื่องของที่อยู่อาศัยให้อยู่อาศัยได้อย่างสมเกียรติสมศักดิ์ศรี รวมถึงเรื่องของการรักษาพยาบาลต้องให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี ซึ่งทั้งหมดถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ
“สิ่งที่ผู้บริหารได้รายงานในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายไม่ให้ออกจากราชการ ให้ข้าราชการมีเงินใช้หลังหักหนี้แล้วเพียงพอต่อการดำรงชีพและดูแลครอบครัว รวมถึงการจัดทำสินเชื่อพิเศษ และการลดดอกเบี้ย ตนเองเข้าใจว่าหลาย ๆ หน่วยงานมีความตั้งใจดี ต้องขอขอบคุณอย่างใจจริง และเชื่อว่าข้าราชการจำนวนมากต้องรับรู้และขอบคุณในความประสงค์ดีของทุก ๆ ท่าน ที่ได้เห็นใจและใส่ใจต่อปัญหาหนี้สินของข้าราชการเป็นพิเศษ ซึ่งหลาย ๆ หน่วยงานทำงานก็ต้องการกำไร มี KPI เป็นตัวชี้วัด แต่ก็ยอมขาดทุนเพื่อให้ข้าราชการกลุ่มที่เป็นหนี้มีเงินเดือนคงเหลือมากขึ้น”
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย กล่าวรายงานความคืบหน้าภารกิจ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการและบุคลากรของรัฐว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี แถลงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันแก้หนี้ทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนหนี้ครัวเรือนรวมสูงกว่า 16 ล้านล้านบาท และสถานการณ์หนี้เสียในทุกประเภทสินเชื่อกำลังทวีความรุนแรงกำลังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวนมากในขณะนี้ โดยภาพรวมว่า “หนี้สินทั้งนอกระบบ และ ในระบบ ในภาพใหญ่” ซึ่งแยกเป็นประเภทหนี้ต่าง ๆ ทั้งบ้าน เช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเกษตร หนี้ OD และหนี้อื่น ๆ ล้วนมีความซับซ้อน มีความไม่สมดุล และเป็นที่สังเกตได้ว่ามีความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้าง จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนอำนาจในการแก้ไขจากฝ่ายบริหารในด้านการจัดการของหน่วยงานนโยบายและหน่วยงานกำกับ ฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็น และฝ่ายตุลาการเพื่อนำมาซึ่งกระบวนการไกล่เกลี่ยและการบังคับคดีที่เหมาะสม
หนี้ข้าราชการกู้แบงก์-สหกรณ์รวม 5 ล้านล้าน
ในขณะที่การแก้ไขปัญหาหนี้สินในภาพรวมกำลังดำเนินอยู่ด้วยความยากลำบาก คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคประชาชน ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มีข้อสั่งการชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา “หนี้เงินกู้สวัสดิการ ของบุคลากรภาครัฐ” นับเป็นยอดหนี้ที่มีขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏในรายงานยอดหนี้ของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จากจำนวนบุคลากรภาครัฐจำนวน 3.1 ล้านคน ที่ยังไม่รวมสมาชิกในครอบครัว เป็นลูกหนี้เงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ 1,378 แห่ง จำนวนลูกหนี้รวม 2.8 ล้านคน ซึ่งมีหนี้รวมกว่า 2 ล้านล้านบาท และมีธนาคารที่ให้สินเชื่อในลักษณะสวัสดิการร่วมด้วย อีกอย่างน้อย 3 แห่ง คิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 3.0 ล้านล้านบาท รวมทั้งหมดเป็นหนี้ข้าราชการกว่า 5 ล้านล้านบาท โดยข้าราชการหนึ่งคนมีหนี้เงินกู้จากหลายแหล่ง
ในขณะที่ลูกหนี้จำนวนหนึ่งยังคงชำระหนี้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์และธนาคารอยู่ แต่ปรากฏว่ามีบุคลากรภาครัฐจำนวนมากและมากขึ้นที่มีรายได้สุทธิหลังหักชำระหนี้ และเงินค่างวดรายเดือนแล้ว มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และบุคลากรของรัฐจำนวนมากขึ้น ๆ ที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จนกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงต่อเนื่อง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน
ยึดเกณฑ์หักหนี้ให้เหลือเงินเดือนไม่น้อยกว่า 30%
ทั้งนี้บรรยากาศการแถลงข่าวนั้นผู้แทนของข้าราชการหน่วยงานต่างๆทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการครู ได้รายงานถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของบุคลากร ซึ่งปัจจุบันได้ใช้เกณฑ์การแก้ปัญหาหักบัญชีเงินเดือนในส่วนที่เป็นหนี้สินให้เหลือเงินไม่น้อยกว่า 30% แต่ก็ยังมีข้าราชการบางส่วนที่ไม่ได้เป็นหนี้ในระบบเท่านั้นแต่ยังมีหนี้นอกระบบที่มีภาระที่ต้องชำระซึ่งผู้บังคับบัญชาแต่ละแห่งพยายามติดตามแก้ปัญหา และจัดกลุ่มลูกหนี้เป็นสีแดง คือมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ สีเหลืองสามารถจ่ายหนี้ได้บางส่วน และสีเขียวทยอยชำระหนี้ได้เป็นปกติ ส่วนหนี้สหกรณ์นั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์พยายามช่วยเหลือโดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือ 4.75% ยืดระยะเวลาชำระหนี้ไปจนถึงอายุ 75 ปี และนำเอาทุนเรือนหุ้นมาลดภาระหนี้ของสมาชิก แต่ก็ยังติดปัญหาที่สหกรณ์ทั่วประเทศยังเข้าร่วมไม่มากนัก
กรุงไทยเตรียม 5 หมื่นล้านช่วยบรรเทาหนี้ข้าราชการ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ธนาคารกรุงไทยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากมาตรการโควิดที่ผ่านมารวมกว่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท 53,000 ราย และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาของท่านนายก ในการช่วยเหลือข้าราชการลดภาระหนี้อย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถในการดำรงชีพ ทางกรุงไทยได้นำเสนอมาตรการรวมหนี้อย่างยั่งยืน อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ตลอดอายุสัญญา และลดอัตราผ่อนชำระให้มีความเหมาะสมกับการดำรงชีพ โดยได้ขยายเวลาผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง ได้ยาวสุดถึง 80 ปี ให้กับกลุ่มข้าราชการกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้สินเชื่อ OD ที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และก่อให้เกิดภาระหนี้เรื้อรัง เกินความสามารถในการผ่อนชำระ รวมไปจนถึงการสนับสนุนให้ความรู้เรื่องวินัยการเงินแก่ข้าราชการ
ขณะเดียวกัน เราตระหนักถึงข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของระบบ คือ
1. หนี้ที่อยู่ในระบบ NCB เพียง 147 สถาบันการเงิน และมีเพียงสหกรณ์ไม่กี่ราย ครอบคลุมจำนวน 33 ล้านคน จำนวนบัญชี 127 ล้านบัญชี
2. บุริมสิทธิของหนี้สหกรณ์ และการลำดับการตัดชำระหนี้ของสถาบันการเงิน แม้ว่าจะอยู่ภายใต้กรอบสวัสดิการขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่มี MOU
3. การก่อหนี้เพิ่มที่ผ่านมา สามารถเห็นได้เฉพาะหนี้ที่อยู่ในระบบ ดังนั้นการดำรงไว้ซึ่งหลักการ 70 : 30 จะสามารถดำเนินการได้เฉพาะหนี้ที่อยู่ในระบบ การมีกลไกลที่มีข้อมูลที่อัพเดตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นข้อจำกัดอีกหนึ่งข้อต้องก้าวผ่าน
ธนาคารตระหนักถึงข้อจำกัดเหล่านี้ จึงได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน ประกอบด้วย หน่วยงานข้าราชการต้นสังกัด สหรกณ์ กรมบัญชีกลาง NCB กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การช่วยเหลือสัมฤษธ์ผลในเชิงโครงสร้าง ลดทอนอุปสรรคในเชิงโครงสร้างได้อย่างยั่งยืน โดยรวมหนี้ทุกประเภท รวมถึงมีแนวทางให้ลูกหนี้แสดงเจตจำนงของการไม่ก่อหนี้เพิ่ม หรือ เกินกำลัง มีระบบและกระบวนการอัพเดตแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้ทรายถึงสถานะการเป็นหนี้องค์รวมอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจุบัน ให้สามารถเข้าใจได้ทุกภาคส่วน ในลักษณะที่เชื่อมโยงแหล่งที่มาของรายได้ทุกช่วงวัย เพื่อให้เกิดการชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ผลักลูกหนี้ข้าราชการไปกู้หนี้นอกระบบ และใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ทิ้งภาระให้รุ่นต่อไป
การคาดการณ์ของโครงการนี้ ธนาคารวางกำหนดไว้ 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยข้าราขการได้ 50,000 คน โดยที่กรอบของการเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย กลุ่มเปราะบางที่มีภาระหนี้มาก จนไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐานได้ แบะมีเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30% ในแต่ละเดือน ปิดหนี้และรวมหนี้จากทุกสภาบันการเงิน รวมถึงการรวหนี้ และการร่วมมือแบบ Co- Exit กับสหรกณ์ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การลดภาระหนี้อย่างยั่งยืน ให้มีเงินเหลือเกิน 30% ตลอดช่วงวัย โดยที่สามารยังชีพได้ โดยไม่พึ่งหนี้นอกระบบ แสดงเจตเจตรมย์ไม่ก่อหนี้เพิ่มตลอดการเข้าร่วมโครงการ รวมสิทธิบำเหน็จบำนาญตกทอด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงแหล่งการชำระหนี้ได้ย่างต่อเนื่อง หลังการเกษียณอายุราชการ
การรวมหนี้ทุกประเภท จะทำให้ข้าราชการได้ประโยชย์จากการลดภาระดอกเบี้ยในระดมที่เหมาะสมอย่างมีนัยสำคัญ ผ่อนชำระได้เหมาะสมกับรายได้ที่มี โดยสามารถผ่อนแบบ CO Exit ร่วมกับสหกรณ์ มีเงินดำรงชีพอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องพึ่งหนี้นอกระบบ
ปัจจุบันได้หารือกับ หารือกองทัพบก กระทรวงการคลัง สหรกณ์กรมป่าใหม่ สหรกณ์ครูขอยแก่น สหรกณ์ของกรมส่งเสริมสหรณ์ เป็นต้น และอยู้ระหว่างห่รือ นะหว่างหารือ กองทัพเรือ อากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกันนี้ มีวเงินสนับสนุนสหรกร์ เกือบ 1.4 แสนล้านบาท มียอดค้างชำระ 4 หมื่นล้านบาท
ออมสินดัน 4 ไม่ช่วยปรับโครงสร้างหนี้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินเร่งการแก้ไขหนี้ข้าราชการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยมีโครงการหลักๆเช่นการลดดอกเบี้ยให้ข้าราชการที่ติดขัดการจ่ายดอกเบี้ยหรือมีประวัติการชำระหนี้ดีโดยลดดอกเบี้ยไปแล้ว 367,189 ราย เป็นมูลหนี้ 294,229 ล้านบาทหรือเกือบ 70% ของสินเชื่อข้าราชการทั้งหมด ใช้เงินในการลดดอกเบี้ยประมาณ 3 พันล้านบาท
นอกจากนั้นข้าราชการที่เป็น NPL ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการ 4 ไม่คือไม่ฟ้องดำเนินคดี ไม่ฟ้องล้มละลาย ไม่ยึดทรัพย์ และไม่ขายทอดตลาด โดยโครงการนี้จะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค.นี้แล้วจะมีการประเมินผลอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็ว และธนาคารก็จะมีการลดดอกเบี้ยให้ โดยมีข้าราชการที่ได้ประโยชน์ทั้งสิ้น 24,822 ราย เป็นวงเงิน 8,335 ล้านบาท นอกจากนี้ธนาคารยังให้สินเชื่อกับสหกรณ์เพื่อให้ข้าราชการไปรีไฟแนนซ์หนี้ดอกเบี้ยสูง (16-18%)เป็นดอกเบี้ยต่ำ โดยมีสหกรณ์ที่เข้าโครงการแล้ว 94 แห่ง เป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,227 ล้านบาท และมีสหกรณ์ที่รอเข้าโครงการอีก 25 แห่ง รวมเป็นเงินประมาณ 2,500 – 3,000 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วจะมีวงเงินสำหรับสินเชื่อนี้ประมาณ 6 พันล้านบาท
นอกจากนั้นยังมีการทำโครงการอื่นๆเช่นเพิ่มการฝึกอาชีพข้าราชการ การปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่อาศัยข้าราชการ เป็นต้น