“พาณิชย์” พบกลุ่มผู้ผลิตจักสาน ผ้ามัดย้อม หนุนเสริมแกร่งทำธุรกิจ

“พาณิชย์” พบกลุ่มผู้ผลิตจักสาน ผ้ามัดย้อม หนุนเสริมแกร่งทำธุรกิจ

“พาณิชย์” ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม “ลินชวา” กลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง หนุนเสริมแกร่งการทำธุรกิจ สร้างแบรนด์ เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นายกองตรี พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ตน และนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ ได้แก่ ผู้ประกอบการกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม “ลินชวา” อำเภอบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชุมชน “จักสาน” สู่สากล และผู้ประกอบการกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง อำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัลยา

สำหรับกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม “ลินชวา” พบว่า มีการพัฒนาสินค้าโดยการนำผักตบชวามาสร้างผลิตภัณฑ์จักสาน เช่น กระเป๋า พวงกุญแจ ตะกร้า แจกัน กระถางต้นไม้ และของใช้จากผักตบชวาต่าง ๆ ถือเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ตามแนวทางและหลักการของสินค้า BCG ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำนวัตกรรมมาใช้ และมีการออกแบบที่ทันสมัย สวยงาม ซึ่งเป็นผลจากการเข้าร่วมโครงการในพระราชดำริ

“พาณิชย์” พบกลุ่มผู้ผลิตจักสาน ผ้ามัดย้อม หนุนเสริมแกร่งทำธุรกิจ

โดยกระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการเพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์ เช่น การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านระบบบัญชี การวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการที่ทันสมัย และการให้ความรู้และคำปรึกษากลยุทธการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งจะนำเข้าร่วมงาน Thai Festival Tokyo วันที่ 11 – 12 พ.ค. 2567 โดยผู้นำเข้าญี่ปุ่นจะเดินทางมาไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าในวันที่ 21 มี.ค. 2567 นี้

ส่วนกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง พบว่า กลุ่มมีการใช้เทคนิคการย้อมผ้าเป็นศิลปะแบบญี่ปุ่นที่นำมาสร้างงานหัตถศิลป์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แม้จะทำด้วยวิธีเดียวกันแต่ผลงานที่ได้จะไม่ซ้ำกัน สร้างสรรค์ผลงาน

โดยใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว เช่น แสงอาทิตย์ที่สาดส่องบนผิวน้ำกว๊านพะเยา ผสานศิลปะเทคนิคแบบญี่ปุ่น กับองค์ความรู้และนวัตกรรมเรื่องสีย้อมจากธรรมชาติในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋ารูปแบบต่างๆ ผ้าคลุม ซึ่งกลุ่มมีโมเดลทางธุรกิจที่นำเสนอคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เน้นธรรมชาติและความยั่งยืน โดยใช้สีย้อมจากธรรมชาติ และวิธีการย้อมที่ประหยัดพลังงาน

 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนการจดอนุสิทธิบัตร และการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้า ช่วยหาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Local BCG+ ณ เชียงใหม่ เดือน ก.พ 2567 งาน STYLE Bangkok 20-24 มี.ค.2567 และ Thai Festival Tokyo  11–12 พ.ค.2567 ซึ่งผู้นำเข้าญี่ปุ่นจะเดินทางมาไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าในวันที่ 21 มีนาคม 2567 เช่นเดียวกัน และหากสินค้าตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น อาจจะได้นำไปขายในห้าง MUJI โตเกียวด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) และ MOC Biz Club จ.พะเยา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกับนายกมลสันต์ ศรีวิราช ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา นายณัทกร พรหมทอง ประธาน YEC จังหวัดพะเยา รวมถึงรองประธานและที่ปรึกษา YEC จังหวัดพะเยา โดยได้รับทราบประเด็นปัญหา อุปสรรค เช่น เรื่องเงินทุน และการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในจำนวนมากไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขั้นตอนการส่งออกที่ซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับที่จะช่วยประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาแบรนด์ การผลักดันให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด