'แอร์พอร์ตลิงก์' 3 ปี ในมือ 'ซีพี' ถึงเวลาต้องลงทุนซ่อมใหญ่
เปิดแผนลงทุน “แอร์พอร์ต เรล ลิงก์” หลัง “ซีพี” เข้าบริหารกิจการ 3 ปี กรมการขนส่งทางรางชี้ถึงเวลาต้องซ่อมใหญ่ ยกเครื่องระบบซอฟต์แวร์ หลังขบวนรถถูกใช้งานมานานราว 14 ปี ระบุหากไม่มีการซ่อมใหญ่ อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการใช้บริการของประชาชน
นับเป็นระยะเวลาราว 3 ปี จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 25 ต.ค.2564 บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือ กลุ่มซีพี เข้าบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
โดย “กรุงเทพธุรกิจ” พาส่องแผนลงทุนจากการประกาศของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในปัจจุบัน ออกมาระบุไว้ในช่วงปี 2564 โดยกล่าวถึงภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และความพร้อมในการรับมอบรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินการรับช่วงต่อจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แบบไร้รอยต่อ
โดยสั่งการให้ผู้เชี่ยวชาญการเดินรถ และให้บริการระบบรางทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบอย่างละเอียด พร้อมสำรวจความคิดเห็นจากผู้โดยสารเพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้พร้อมบริการได้อย่างต่อเนื่องทันทีที่เข้ามารับช่วง โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย และความสะดวกสบาย
อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีแผนเตรียมเงินลงทุนช่วงแรกราว 2 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการและระบบต่างๆ เช่น ระบบเบรก อาณัติสัญญาณให้สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ตลอดจนปรับปรุงระบบฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัย อาทิ ระบบวิทยุ อุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับปรุงตั้งแต่เปิดบริการมา 10 ปี พร้อมปรับปรุงตกแต่งสถานีและติดเครื่องปรับอากาศ เพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง
นอกจากนี้ บริษัทฯ จะปรับปรุงขบวนรถ express line จากเดิมรองรับผู้โดยสารได้ 3 ตู้ต่อขบวน และสำหรับขนสัมภาระกระเป๋า 1 ตู้ต่อขบวน จะปรับเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารรวมเป็น 4 ตู้ต่อขบวน เพิ่มขึ้นขบวนละ 200 คน หรือรวมขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 800 คนต่อวัน ส่งผลให้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะมีขบวนรถให้บริการ 9 ขบวน นำมาให้บริการ 8 ขบวน และสำรองให้บริการอีก 1 ขบวน ขณะเดียวกัน บริษัทฯ มีแผนจะจัดซื้อขบวนรถใหม่ โดยอยู่ระหว่างคัดเลือกระบบ
ล่าสุดเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา “สฤษดิ์ จิณสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ออกมาเปิดเผยถึงข้อมูลการลงทุนพัฒนาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ท่ามกลางกระแสความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการให้บริการ โดยยืนยันว่า บริษัทฯ ได้จัดจ้างผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงทางรถไฟ ได้ดำเนินการบำรุงรักษาและป้องกันตามคู่มือบำรุงรักษา รวมถึงการตรวจสอบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนและประจำปี
อย่างไรก็ดี ข้อกังวลเกี่ยวกับระบบประแจสับรางที่ไม่ได้ซ่อมบำรุงนั้น บริษัทฯ ยืนยันว่า “ระบบประแจสับรางปัจจุบันยังใช้งานได้ตามปกติทุกตัว ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารการจัดการคุณภาพตามมาตรฐานสากล” ส่วนที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีมาตรฐานการออกแบบการรับไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายสองแหล่ง เพื่อสามารถส่งป้อนไฟฟ้าให้ใช้งานได้ตลอดเวลา
รวมทั้งปัจจุบัน บริษัทฯ มีขบวนรถไฟฟ้า ทั้งหมด 9 ขบวน นำมาให้บริการ 8 ขบวน และสำรองให้บริการ อีก 1 ขบวน โดยตรวจสอบระบบความปลอดภัยทั้งภายในและภาพนอกขบวนรถไฟฟ้า โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อยของสภาพขบวนรถโดยสาร ก่อนนำออกมาให้บริการในทุกวัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดสรรเงินลงทุนมากกว่า 1,400 ล้านบาท ในการปรับปรุงระบบต่างๆ ประกอบด้วย การเจียรราง การเปลี่ยนระบบวิทยุสื่อสาร การปรับปรุงตู้สัมภาระเพื่อเพิ่มจำนวนที่นั่งในขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งได้ว่าจ้าง บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ให้เป็นผู้รับเหมาบำรุงรักษาระบบอาณัติสัญญาณการป้องกัน และการแก้ปัญหาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
นอกจากนั้นยังมีงาน Customer Service Improvement เพื่อเพิ่มมาตรฐานการให้บริการแก่ผู้โดยสาร อาทิ
- เพิ่มเติมระบบไฟฟ้าแสงสว่างในสถานีเพื่อความปลอดภัย
- ปรับปรุงพื้นที่รับส่งผู้โดยสาร
- จัดที่จอดรถสาธารณะ
- เพิ่มห้องน้ำสำหรับผู้โดยสาร
- ปรับปรุงป้ายบอกทิศทางในสถานี
ด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าทางกลุ่มซีพีได้จ้างบริษัทที่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า ครอบคลุมทั้ง ทางวิ่ง อาณัติสัญญาณ และรถขนส่งทางราง เช่น บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด มาบำรุงรักษารถขนส่งทางราง และระบบอาณัติสัญญาณ
โดยเป็นการบำรุงรักษาระบบและป้องกันตามคู่มือฯ ที่กำหนด ซึ่งได้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบดังกล่าวรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนและรายปี ทั้งนี้ สำหรับขบวนรถไฟฟ้าได้มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญร่วมกันตรวจสอบความเรียบร้อยของขบวนรถโดยสารก่อนนำมาให้บริการทุกวัน
โดย ขร.ได้ลงพื้นที่ประเมินคุณภาพสถานีและเสนอแนวทางการปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการให้บริการ และ ขร. จะได้ติดตามผลการดำเนินการตามข้อเสนอต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีคณะกรรมการกำกับดูแลและคณะกรรมการบริหารสัญญา มีหน้าที่และอำนาจในการติดตาม ควบคุม กำกับดูแลโครงการดังกล่าวด้วย
ขณะที่ขบวนรถของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พบว่ามีอายุใช้งานราว 14 ปี นับจากวันที่เปิดให้บริการในปี 2553 โดยในช่วงที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริหารโครงการอยู่ ได้มีการซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระ (Overhaul) ครบกำหนดตามระยะทางวิ่งให้บริการที่ 2.4 ล้านกิโลเมตร ล่าสุดเมื่อปี 2561 อย่างไรก็ดี เมื่อขบวนรถวิ่งให้บริการในระยะทางที่เพิ่มมากขึ้น ตามคู่มือรถฟ้าจะมีการกำหนดถึงระยะซ่อมบำรุงใหญ่ ที่คาดว่าจะใกล้ครบกำหนดแล้ว
ทั้งนี้ หากไม่มีการซ่อมใหญ่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการใช้บริการของประชาชน เพิ่มโอกาสเกิดเหตุขัดข้องกับรถขนส่งทางราง ที่ส่งผลให้เกิดการล่าช้าต่อการใช้บริการของผู้โดยสาร นอกจากนี้ จะทำให้มีจำนวนรถที่ให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อการใช้งาน และไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคตได้