สนามบินเกิดใหม่ ถึงเวลาวัดใจ 'รุ่ง' หรือ 'ร่วง' ?
จับตานโยบายผลักดันการลงทุน "สนามบิน" จะรุ่งหรือร่วง หลังรัฐบาลเร่งแผนลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดศึกษา "สนามบินพะเยา" ลุ้นผลตอบรับสายการบิน - ผู้โดยสาร หวั่นซ้ำรอยสนามบินเบตง ไร้เที่ยวบินเชิงพาณิชย์
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ประกาศนโยบาย Aviation Hub ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ตั้งเป้าระยะสั้นจากนี้ภายใน 1 ปี สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินหลักประตูด่านแรกเข้าสู่ประเทศไทย ต้องติดอันดับ 1 ใน 50 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และเป้าหมายระยะยาวอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลักดันสู่การเป็น 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก
ส่องยุทธศาสตร์ Aviation Hub ส่วนหนึ่งรัฐบาลมีแผนลงทุนสนามบินน้องใหม่ 2 แห่ง สนามบินล้านนา และสนามบินอันดามันเพื่อซัพพอร์ตดีมานด์การเดินทางของหัวเมืองการท่องเที่ยวภาคเหนือ และภาคใต้
และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2567 การประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 2/2567 จังหวัดพะเยา นายกฯ ยังประกาศว่า วันนี้ตั้งใจมาดูพื้นที่พัฒนาสนามบินพะเยาที่จะศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งถ้าติดตามนโยบายรัฐบาลจะเห็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุด คือ การยกระดับเมืองรองเป็นเมืองหลักปัจจัยสำคัญในการทำให้เมืองรองเป็นเมืองหลักสนามบินถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุด
สำหรับสนามบินพะเยา จะพัฒนาบนพื้นที่ 2,813 ไร่ ในตำบลดอนศรีชุม อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ประเมินวงเงินลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเปิดให้ใช้บริการในปี 2577โดยปีแรกที่เปิดใช้บริการจะมีผู้โดยสาร 78,348 คนต่อปี และในปี 2587 ความต้องการจะเพิ่มเป็น 94,920 คนต่อปี
ขณะที่สนามบินพะเยา มีระยะห่างจากสนามบินภาคเหนือที่เปิดให้บริการแล้ว อาทิ สนามบินน่านนคร ระยะห่าง 88 กิโลเมตร สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย 89 กิโลเมตรและสนามบินเชียงใหม่ 120 กิโลเมตร โดยสนามบินใกล้เคียงสุดอย่างสนามบินน่านนคร สถิติผู้โดยสารในปี 2566 มีเที่ยวบินเข้า-ออก 2,512 เที่ยว และผู้โดยสารรวม 3.86 แสนคน ขณะที่ขีดความสามารถรองรับได้สูงสุด 8.64 แสนคนต่อปี
ดังนั้นจากโมเดลพัฒนาสนามบินพะเยาที่มีระยะห่างจากสนามบินรอบบ้านไม่มากนัก นับเป็นอีกโจทย์ท้าทายในการดึงดูดสายการบินและผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการ เพราะตำแหน่งที่ตั้ง ที่ไม่ห่างจากสนามบินข้างเคียง อีกทั้งหลายสนามบินยังคงมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเหลืออยู่
จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า หากมีการผลักดันพัฒนาสนามบินพะเยา ขึ้นเป็นสนามบินแห่งที่ 30 ของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ก็หวั่นจะซ้ำรอยการพัฒนาสนามบินแห่งที่ 29 สนามบินเบตง จังหวัดยะลา ที่เปิดให้บริการเพียง 1 ปีเศษ ต้องพบเจอสถานการณ์สนามบินร้าง เพราะปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ไปเปิดให้บริการ
โดยสายการบินนกแอร์ที่เคยเปิดให้บริการ ประกาศหยุดบินเพราะไม่คุ้มค่า ผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาดการณ์ อีกทั้งการเดินทางของผู้โดยสารเลือกใช้บริการสนามบินใกล้เคียงอย่างสนามบินหาดใหญ่ ซึ่งมีสายการบินให้บริการจำนวนมาก ส่งผลต่อราคาตั๋วเครื่องบินในราคาไม่สูง
ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์สำคัญของการลงทุนพัฒนา “สนามบิน” ไม่เพียงศึกษาเพื่อยกระดับสู่ศูนย์กลางการบิน หรือยกระดับเมืองรอง แต่สิ่งสำคัญ จำเป็นต้องศึกษา “ดีมานด์” จากสายการบินและการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อไม่ให้สนามบินเกิดใหม่ ต้องมานั่งวัดใจจะรุ่งหรือร้าง