'รัฐบาล'เลี่ยงบาลีกู้ทางอ้อม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ขาดดุลงบฯปี 68 พุ่ง 1 ล้านล้าน

'รัฐบาล'เลี่ยงบาลีกู้ทางอ้อม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ขาดดุลงบฯปี 68 พุ่ง 1 ล้านล้าน

เปิดข้อเท็จจริงแหล่งเงินทำดิจิทัลวอลเล็ต ทางเลือกไม่ออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่ใช้วิธีกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเท่ากับการกู้เงินอีกรูปแบบหนึ่ง กางข้อกฎหมายตั้งงบฯขาดดุลไม่เกิน 20% ของงบฯรายจ่าย จับตาหนี้สาธารณะพุ่งหลังขาดดุลจ่อทะลุ 1 ล้านล้านบาทเทียบเท่าช่วงโควิด-19

KEY

POINTS

  • โครงการแจกเงิน 10,000 บาท ในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลกำหนดแจกในไตรมาส 4 ปีนี้ อยู่ระหว่างหาแหล่งเงินมาทำโครงการ
  • ทางเลือกในการใช้งบฯปี 68 โดยตั้งงบฯขาดดุลเพิ่มจากเดิม 7.13 แสนล้านมีโอกาสเป็นไปได้มาก
  • การขาดดุลงบฯประมาณปี 68 อาจสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เท่าช่วงโควิด-19
  • ข้อเท็จจริงการใช้วิธีกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเท่ากับการกู้เงินอีกรูปแบบหนึ่ง โดยกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลตั้งงบฯขาดดุลไม่เกิน 20% ของงบฯรายจ่าย 

โครงการเติมเงิน 10,000 บาทในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ตนโยบายเรือธงในการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยืดเยื้อ โดยล่าสุดไทม์ไลน์การแจกเงินเลื่อนไปเป็นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ขณะที่ในเรื่องของแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะใช้ในโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณไปหารือกันให้ได้ข้อสรุปว่าจะใช้รูปแบบใดระหว่างการออกพ.ร.บ.เงินกู้ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการใช้รูปแบบผสมระหว่างเงินกู้และเงินงบประมาณโดยให้มาเสนอบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 10 เม.ย.นี้

ประเด็นการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มาใช้ในการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตดูจะมีน้ำหนักจะเป็นแหล่งเงินที่ถูกนำมาใช้ในโครงการนี้ โดยนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการจัดทำงบประมาณ 2568 อยู่ในระหว่างการจัดทำสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรายละเอียดวงเงินงบประมาณได้จากเดิมที่มีการตั้งกรอบงบประมาณไว้เดิม 3.6 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณ 7.13 แสนล้านบาท

หากจะใช้เงินงบประมาณปี 2568 มาใช้ในโครงการนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณในส่วนนี้เพื่อรองรับโครงการ พร้อมทั้งยอมรับว่าที่ผ่านมายังไม่มีเงื่อนไขการทำงบประมาณ 2568 เข้ามาเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดทำโครงการนี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าแนวทางการใช้งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องวิธีการตั้งขาดดุลงบประมาณเพิ่มจากเดิมที่ตั้งวงเงินไว้ 7.13 แสนล้านบาท โดยหากจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณ 2568 ก็ต้องมีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มอีกประมาณ 2 – 3 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้การขาดดุลงบประมาณขึ้นไปแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้งหลังจากที่เคยขาดดุลงบประมาณสูงในระดับนี้ในช่วงที่มีการออก พ.ร.ก.เงินกู้ช่วงเกิดสถานการณ์โควิด -19  

ทั้งนี้แม้การปรับเปลี่ยนแหล่งเงินมาใช้งบประมาณรายจ่ายแม้จะทำให้คณะกรรมการโดยเฉพาะส่วนที่เป็นข้าราชการประจำรู้สึกสบายใจขึ้นกว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงินฯ และอาจทำให้สังคมลดแรงเสียดทานที่มีต่อโครงการนี้ลงได้ และการกำหนดให้โครงการเริ่มต้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ก็เป็นช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จะมีการประกาศใช้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่พอดีกับการเบิกจ่ายงบประมาณ

หากแต่ในข้อเท็จจริงการใช้วิธีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมนั้นก็เท่ากับเป็นการกู้เงินอีกรูปแบบหนึ่งแต่เป็นการกู้เงินช่วงปลายปีงบประมาณโดยให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อนำมาชดเชยการกู้เงินในปีงบประมาณนั้นๆ ตาม มาตรา 20 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่ให้กระทรวงการคลังกู้เงินได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

\'รัฐบาล\'เลี่ยงบาลีกู้ทางอ้อม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ขาดดุลงบฯปี 68 พุ่ง 1 ล้านล้าน

“แนวทางที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ตนั้นอย่างไรก็ต้องกู้เพระเงินนั้นไม่สามารถเสกมาได้ ต้องมีที่มาของเงิน ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินในรูปแบบการออก พ.ร.บ.หรือการตั้งขาดดุลงบประมาณเพิ่มเท่ากับเป็นการกู้เงินเหมือนกันแต่กู้กันคนละบรรทัด ซึ่งข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 6 – 7 แสนล้านบาทมาเป็น 1 ล้านล้านบาท ส่งผลอย่างไรต่อระดับหนี้สาธารณะและความยั่งยืนทางการคลังของไทยด้วย”

ประเด็นในการพิจารณาหากมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงมากก็จะทำให้ระดับดุลการคลังต่อจีดีพีสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากเดิมที่จะอยู่ที่ระดับ 3.56% ต่อจีดีพี และหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63.73% ในปี 2568 จะขยับเพิ่มขึ้นสูงโดยดุลการคลังต่อจีดีพีอาจขึ้นไปอยู่ใกล้กับระดับ 4% จากระดับความยั่งยืนทางการคลังที่อยู่ในระดับไม่เกิน 3% และหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับระดับ 66% ต่อจีดีพีจากระดับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่อยู่ที่ 70% ต่อจีดีพี ซึ่งทำให้พื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ที่จะรองรับวิกฤติต่างๆเหลือเพียง 4% เท่านั้น

“การเลือกแนวทางใช้งบประมาณเพื่อเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนั้นแม้จะเป็นแนวทางที่มีความคิดเห็นที่สนับสนุนจากหลายฝ่ายแต่ก็เป็นแนวทางที่มีข้อจำกัดในเรื่องการจัดทำงบประมาณอยู่พอสมควรเนื่องจากการจัดทำงบประมาณของประเทศนั้นมีข้อจำกัด และมีข้อกำหนดทางกฎหมายอยู่แล้วเช่นการกำหนดงบลงทุนฯไว้ 20%  หากมีโครงการใดโครงการหนึ่งที่เข้ามาแล้วต้องการใช้งบประมาณจำนวนมาก การปรับกรอบงบประมาณปี 68 ให้รองรับก็จะกระทบไปอีกหลายปีงบประมาณ และต้องมีการทบทวนและจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ปี 2568 ไปจนถึงปี 2571”แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลหากจะใช้วิธีการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้ในโครงการนี้การบริหารเงินให้มาใช้ในโครงการได้ครบถ้วนก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายเนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินโครงการนี้มีอยู่ 6 เดือน ดังนั้นหากรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่ม 3  แสนล้านบาทเพื่อมาใช้ในโครงการนี้ ก็จะยังขาดอีก 2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะไฟแนนซ์เงินจากส่วนไหนมาใช้ก็ต้องรอดูการบริหารจัดการในเรื่องนี้ต่อไป

 

เปิดข้อกฎหมายกู้ขาดดุลงบประมาณ

สำหรับข้อกฎหมายที่ระบุไว้เกี่ยวกับการตั้งบประมาณขาดดุลของรัฐบาล ตามมาตรา มาตรา 21 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ระบุว่าการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดูลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทไม่เกินวงเงิน  

  1. 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และ
  2. 80% ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น

โดยการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้ภายในปีงบประมาณนั้น ๆ เว้นแต่ในกรณีที่มีการอนุมัติให้เบิกเงินงบประมาณรายจ่ายได้ภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณใด รัฐมนตรีอาจขยายเวลากู้เงินตามวรรคหนึ่งออกไปภายหลังวันสิ้นปีงบประมาณนั้นได้ ทั้งนี้ การกู้เงินดังกล่าวต้องไม่เกินงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับอนุมัติให้เบิกได้ภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณนั้น ให้รัฐมนตรีประกาศวงเงินกู้ในส่วนที่มีการขยายเวลากู้เงินภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณตามวรรคสองในราชกิจจานุเบกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นการประมาณการล่วงหน้าซึ่งในระหว่างปีงบประมาณสถานะการคลังทั้งภาครายได้และรายจ่ายอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณการไว้ ดังนี้เพื่อมิให้เกิดภาระทางการคลังจากการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณมากเกินความจำเป็น และเพื่อให้การบริหารเงินคงคลังมีต้นทุนต่ำสอดคล้องกับสถานะการเบิกจ่ายเงินจากคลังในแต่ละช่วงเวลา พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงได้กำหนดกรอบวินัยทางการเงินการคลังสำหรับการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น

ดังที่บัญญัติในมาตรา 55 ว่าการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานะของเงินคงคลังโดยคำนึงถึงประมาณการรายได้และแผนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในแต่ละช่วงเวลาด้วย เมื่อปรากฏว่าในระหว่างปีงบประมาณรัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าประมาณการ หรือมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณต่ำกว่าประมาณการ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดวงเงินที่จะกู้ตามวรรคหนึ่งลงตามความจำเป็นและเหมาะสม

ทั้งนี้ จากการติดตามรายงานผลการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีของกรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง พบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมามักจะมีการกู้เงินชดเชยการขาดดุลเพื่อมาสมทบเงินรายได้มากกว่าจำนวนเงินที่มีการเบิกจ่ายจริง จึงทำให้ดุลการคลังภายหลังปิดบัญชีงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีฐานะเป็นบวกแทบทุกปี หรือมี "รายรับ" สูงกว่า "รายจ่าย" ทั้งที่ รัฐบาลมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ย่อมแสดงให้เห็นว่ารายรับที่สูงกว่ารายจ่ายนั้นเกิดจากเงินกู้นั่นเอง ดังนั้น ภายหลังที่

ส่วนมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมแล้กระทรวงการคลังจะต้องเพิ่มความรอบคอบและเคร่งครัดในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากขึ้นด้วย