4 ปี ‘สนามบินอู่ตะเภา’ ลุ้นออก NTP เริ่มก่อสร้างปีนี้
เช็คความคืบหน้า “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” เกือบ 4 ปี ยังไม่ตอกเสาเข็ม เหตุติดเงื่อนไขเจรจาแผนร่วม “ไฮสปีดสามสนามบิน” คาดรัฐสางปัญหาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ลุ้นเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้
เป็นระยะเวลาราว 4 ปี สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุน 204,240 ล้านบาท นับจากวันที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามกับ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ซึ่งสถานะโครงการในปัจจุบัน “ยังไม่เริ่มก่อสร้าง” เนื่องจากติดเงื่อนไขบางประการ ทำให้ยังไม่สามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนเริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP)
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยระบุว่า โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องดำเนินการ 4 – 5 เงื่อนไขให้ครบถ้วน อาทิ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อดำเนินการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 โดยปัจจุบัน EHIA ผ่านแล้วและกองทัพเรือ (ทร.) อยู่ระหว่างประกวดราคาเพื่อก่อสร้างรันเวย์ 2 ตามเงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนที่ภาครัฐต้องลงทุนก่อสร้างงานส่วนนี้
ขณะเดียวกัน ตามสัญญาร่วมลงทุน UTA จะต้องหารือร่วมกับ ทร. เพื่อวางแผนบริหารการขึ้นลงจอดของอากาศยานร่วมกัน ระหว่างอากาศยานเชิงพาณิชย์และอากาศยานเพื่อความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนอีกประเด็นสำคัญ คือ การวางแผนงานร่วมระหว่าง UTA และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เนื่องจากทั้งสองโครงการต้องดำเนินการไปพร้อมกัน และเปิดให้บริการในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อทำให้การพัฒนาอีอีซีมีประสิทธิภาพสูงสุด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าการเจรจาระหว่างภาครัฐและเอกชนผู้บริหารโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งต้องยอมรับว่าความล่าช้าของโครงการไฮสปีดเทรนที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่ต้องล่าช้าด้วย เพราะการพัฒนาสนามบินจำเป็นต้องได้ความชัดเจนของแผนก่อสร้างไฮสปีดเทรน รวมไปถึงความชัดเจนของการพัฒนาจุดเชื่อมต่อสถานีอู่ตะเภาที่ต้องอยู่ภายใต้อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภาด้วย
นายวีรวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ผลการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา UTA เร่งรัดดำเนินการในส่วนที่สามารถทำได้ โดยภายหลังลงนามมาประมาณ 1 ปี หรือราวปี 2564 ได้รายงานแผนแม่บท หรือ มาสเตอร์แพลนของการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกไปยัง สกพอ. และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณาแล้วเสร็จ
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันภาครัฐกำลังเริ่มขั้นตอนก่อสร้างโครงการรันเวย์ 2 ซึ่งการดำเนินงานทั้งสองส่วนข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการออก NTP ดังนั้นขณะนี้จึงเหลือเพียงเงื่อนไขประสานขอความชัดเจนต่อการพัฒนาไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน การกำหนดจุดเชื่อมต่อสถานีอู่ตะเภา หากมีความชัดเจนทั้งหมดแล้ว ก็จะสามารถออกหนังสือ NTP และเริ่มงานก่อสร้างได้
เบื้องต้น UTA มั่นใจว่าภาครัฐจะสามารถเจรจาร่วมกับเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเทรนแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ดังนั้นประเมินว่าภายในไตรมาส 2 – 3 ของปีนี้จะได้รับความชัดเจนของแผนพัฒนาไฮสปีดเทรน เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาสามารถนำมาวางแผนโครงการต่อได้ และหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เชื่อว่าในช่วงปลายปีนี้จะได้รับหนังสือ NTP เพื่อสามารถเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกตามมาสเตอร์แพลนกำหนด อีกทั้งยังคงเป้าหมายเปิดให้บริการภายในปี 2571
“ถ้าไฮสปีดเทรนเกิดดีเลย์ออกไป สนามบินก็ยืนยันว่าเรายังต้องพัฒนาต่อ เพราะสนามบินต้องเกิดในพื้นที่นี้ แต่ต้องถามภาครัฐว่าจะปรับแผนอย่างไร เพราะวันนี้ต้องมีสนามบินอู่ตะเภา ถ้ารถไฟยังไม่มาเปิดให้บริการ ก็ต้องหารือใน Plan B ปรับแผนพัฒนาสนามบินหากไม่มีไฮสปีดในเร็วๆ นี้”
นาวาเอก รตน วันภูงา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ปัจจุบัน ทร. ได้เปิดขายซองเอกสารประกวดราคาในโครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงินโครงการ 15,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐในการลงทุนภายใต้โครงการร่วมทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
โดยผลจากการเปิดขายซองเอกสาร มีเอกชนสนใจซื้อของประมูลแล้วกว่า 30 ราย มีกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 20 พ.ค.2567 คาดได้ตัวผู้รับเหมาภายในปลายปี 2567 และเริ่มก่อสร้างทันที โดยการก่อสร้างรันเวย์ 2 จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี หลังจากนั้นจะทดสอบระบบประมาณ 1 ปี และจะเปิดใช้งานภายในปี 2571 เพื่อรองรับการขยายสนามบินอู่ตะเภาตามที่เอกชนคู่สัญญาวางแผนไว้
ทั้งนี้ การก่อสร้างรันเวย์ 2 มีความยาวประมาณ 3,500 เมตร โดยภายใต้รันเวย์นี้จะมีแนวเส้นทางของไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินตัดผ่าน ทำให้ต้องก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดให้กับไฮสปีดเทรนด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่ราว 80 เมตร ปัจจุบัน ทร.จึงแบ่งสัญญางานก่อสร้างส่วนของอุโมงค์ไว้อีก 1 สัญญา เพื่อรอความชัดเจนของเอกชนคู่สัญญาไฮสปีดเทรนมาวางแผนพัฒนา ซึ่งยืนยันว่าความล่าช้าของไฮสปีดเทรนจะไม่กระทบต่อการก่อสร้างรันเวย์ 2 เพราะผู้รับเหมาสามารถทยอยก่อสร้างส่วนอื่นไปก่อนได้
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เตรียมการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยพบว่าปัจจุบันเริ่มมีการแบ่งโซนพื้นที่เตรียมการพัฒนาตามมาสเตอร์แพลนที่เอกชนวางแผนไว้ มีการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร พื้นที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ตลอดจนเตรียมปรับพื้นที่เพื่อรองรับการก่อสร้างรันเวย์ 2
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการใช้งานภายในสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อาทิ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมระบบน้ำ ไฟ และวางท่อเก็บน้ำมันอากาศยาน โดยมีเป้าหมายผลักดันให้สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นสนามบินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กพท.ยังได้ร่วมเสวนา “เช็กความพร้อมอุตสาหกรรมการบิน รองรับการบินใหม่ในอนาคต” ร่วมกับ UTA และกองทัพเรือ โดยยืนยันว่า สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีความจำเป็นจะต้องพัฒนา เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ที่เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้ทั้ง 3 ท่าอากาศยานสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี