ยอดขอจัดตั้งโรงงานใหม่พุ่ง ครึ่งปีงบประมาณ 67 ทะลุ 2.5 แสนล้าน
กรมโรงงานฯ เดินตามนโยบาย “นายกฯเศรษฐา” อำนวยความสะดวกนักลงทุน พร้อมรับลูก “รัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา” ใช้ระบบออนไลน์อนุญาตร.ง.4 ตอกย้ำความเชื่อมั่น รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ เผยอนุมัติร.ง.ปี66 พุ่ง 3.56 แสนล้านบาท ปี 67 โตต่อเนื่อง
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถิติการออกใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ปี 2565-2566 กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานที่มีขนาดใหญ่ 800 โรงงานต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563-2564 โดยเฉพาะปี 2566 อนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบปี 2565 และจ้างงาน 106,631 คน
สำหรับสถิติดังกล่าวสอดรับกับการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2566 มูลค่ารวม 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยเฉพาะมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เติบโตสูงถึง 72% จากปีก่อน
นอกจากนี้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตามปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากการอนุญาตให้ตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรม 255,586.74 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะปี 2567 พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤตโควิค-19
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเข้าร่วมเจรจาด้านความร่วมมือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการพบปะหารือกับภาคธุรกิจ ชักชวนการลงทุน สร้างความเชื่อมั่น จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจและจับคู่ผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งมีนโยบาย Ease of doing business โดยให้หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ เพื่อให้การประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในไทยได้รับความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกันนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำให้มุ่งยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล โดยได้สั่งการให้เร่งนำระบบอนุญาตออนไลน์ (Digital-License) ของกระทรวงอุตสาหกรรมมาใช้งานในทันที
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน สอดคล้องกับบริบทสังคมดิจิทัลและรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลงทุนของโรงงานขนาดใหญ่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-20% ตั้งแต่ปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน
"ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 22 โรงงาน แสดงให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายจุลพงษ์ กล่าว
ดังนั้นขอให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมั่นใจและเชื่อมั่นว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกมิติ และพร้อมส่งเสริมการตั้งโรงงานที่มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน