'อีคอนไทย' แนะรัฐคุมสโคปขึ้นค่าแรง ชี้ 'กลุ่มโลจิสติกส์' แรงงานกว่าล้านราย
"อีคอนไทย" ชวนจับตาปรับค่าแรงกลุ่มโลจิสติกส์ในอีก 3 เดือนนี้ รัฐบาลจะต้องกำหนดสโคปให้ดี เพราะแรงงานกลุ่มนี้กว้างมาก "ส.อ.ท." รัฐไม่ปรับขึ้นค่าแรงกลุ่มอุตสาหกรรม เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ดัชนี MPI ติดลบยาว 17 เดือน ชี้ ขึ้นนำร่องกลุ่มโรงแรมเป็นจิตวิทยาที่หาเสียงไว้
KEY
POINTS
- ส.อ.ท. ระบุค่าแรงขั้นต่ำกลุ่มโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป สูงกว่า 400 บาทอยู่แล้ว มองรัฐปรับค่าแรงครั้งนี้เป็นการปรับเชิงจิตวิทยา
- มองภาครัฐจะยังไม่ปรับขึ้นค่าแรงกลุ่มอุตสาหกรรม เหตุดัชนีผลผลิตอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17
- "ธนิต" ระบุ ให้จับตาปรับค่าแรงกลุ่มโลจิสติกส์ในอีก 3 เดือนนี้ รัฐบาลจะต้องกำหนดสโคปให้ดี เพราะแรงงานกลุ่มนี้กว้างมาก
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลประกาศการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวบางโซนและไม่ใช่ทั่วจังหวัดโดยจะมีผล 13 เม.ย. 2567 นี้และจะทยอยปรับขึ้นกลุ่มโลจิสติกส์ในอีก 2-3 เดือนต่อจากนี้นั้น
ทั้งนี้ ค่าแรงที่จะปรับขึ้นมาเป็นกลุ่มโรงแรมประเภท 4 ดาวขึ้นไป และมีคนงาน 50 คนขึ้นไป ซึ่งข้อมูลจากกสิกรพบว่า หากรวมค่าเซอร์วิสชาร์จปัจจุบันกลุ่มโรงแรมดังกล่าวก็เกินค่าแรงที่ปรับขึ้นอยู่แล้ว จึงมองว่าการปรับค่าแรงครั้งนี้ เป็นการปรับเชิงจิตวิทยา
อย่างไรก็ตาม จากการที่ปลัดกระทรวงแรงงานออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเฟส 2 จะปรับค่าแรงกลุ่มโลจิสติกส์ ซึ่งยังไม่ใช่ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมโดยตรง ดังนั้น มุมมองส่วนตัว มองว่าขณะนี้ดัชนีผลผลิต (MPI) ในประเทศอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ซึ่งลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาถล่ม
ดังนั้น ภาครัฐจะมาใช้กลไกเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวก็คงจะไม่ได้ อีกทั้ง ควรเน้นด้านฝีมือมากกว่า รัฐบาลไมควรสุ่มเสี่ยงทำอะไรในสิ่งที่เรลเซคเตอร์ยังปรับตัวไม่ได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมก็ยังไม่แข็งแรงพอ หากเทียบกับปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็หนักพออยู่แล้ว
"เอกชนมองว่ารัฐบาลได้ทำในสิ่งที่ควรทำแล้ว คือ การปรับให้บางเซคเตอร์ อำเภอที่มีความสามารถที่จะจ่ายได้ เพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินตามนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้มอบนโยบายไว้ แต่จะทำหมดเลยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อุตสาหกรรมยังยืนยันเหมือนเดิมว่าหากจะปรับค่าแรงให้อิงตามระดับฝีมือแรงงานดีที่สุดและจะยั่งยืนที่สุด"
นอกจากนี้ ให้เน้นในเรื่องการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมที่ไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่รองรับของใหม่แห่งอนาคต (New S-curve) ที่กำลังจะเข้ามามากกว่าที่จะมามุ่งการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ประเทศติดกับดัก สุดท้ายอุตสาหกรรมก็อยู่ไม่ได้ ลูกจ้างจะเริ่มโดนปลดและถูกเลิกจ้างจะเกิดผลเสียมากกว่า
นายอิสเรส กล่าวว่า ยืนยันว่าเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งไม่ควรทำ รอให้เศรษฐกิจฟื้นก่อน เช่น อุตสาหกรรมในประเทศดีขึ้น สินค้าขายได้ดีขึ้น ส่งออกได้ดีขึ้น ตอนนี้ที่ทำอยู่เป็นการทำให้เห็นว่ามีการเริ่มกลับมาแอคชั่นแล้ว แต่อย่าไปทำในสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ส่วนตัวจึงยังมองว่ารัฐบาลจะยังไม่ปรับค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรม
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ ECONTHAI กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้ รัฐบาลมีธงอยู่แล้ว จากนโยบายหาเสียง จะเห็นได้ชัดจากการปรับค่าแรงเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2567 ขึ้นไปกว่า 2 บาท เป็นการหารือกันตั้งแต่ปลายปี 2566 จึงออกมาตามสูตร เพราะอยากได้ 400 บาท จากเป้า 600 บาท ใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามเป้าหมายปรับขึ้นปีละ 100 บาท เพื่อให้ถึง 600 บาทปี 2569
อย่างรก็ตาม ในการขึ้นค่าแรงมีสูตรการคำนวณมาตั้งแต่ปี 2560 ไม่ใช่การต่อรองกันแบบลอย ๆ มีการคำนวณทั้งต้นทุน อัตราสมทบแรงแรง อัตราเงินเฟ้อ คุณภาพ เป็นตัวเลขที่มีอยู่แล้ว จะเห้นได้จากในช่วงที่กทม. ปรับขึ้นค่าแรง 363 บาท โดยเฉลี่ย 2-16 บาท การเมืองอยากให้ปรับสูตร จึงตั้งคณะกรรมการ โดยมีนักวิชาการต่าง ๆ ร่วมทำสูตร แล้วพิจารณาในเดือนก.พ. 2567 ซึ่งผลการคำนวณก็ออกมาใกล้เคียงกับสูตรเดิม
"ที่ประชุมจึงหาทางออกโดยการให้นำร่องกลุ่มท่องเที่ยวก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ดี รองมาคือภาคการผลิต ดังนั้น ภาคบริการที่สูงที่สุดคือ โรงแรม จึงเคาะ 10 จังหวัดนำร่องที่มีลูกจ้าง 50 คน ซึ่งบางพื้นที่ค่าจ้างแพงอยู่แล้ว อย่างหาดใหญ่ค่าจ้างแพงกว่ากทม. อีก จึงไม่ใช่ปัญหาเพราะแรงงานไม่มาก ตามรายงานแรงงานไทยประมาณ 20,000 คนเท่านั้น เฉลี่ยค่าจ้างระดับ 465-500 บาทอยู่แล้ว แต่จะไปกดดันจังหวัดข้าง ๆ หรือบางเขตใกล้เคียง จึงต้องแข่งขันกัน การเมืองได้คะแนน แต่อาจเกิดบรรทัดฐาน ปีนี้อาจมีรอบ 3 อีก"
นายธนิต กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลจะปรับค่าแรงกลุ่มโลจิสติกส์ ยอมรับว่าเยอะมาก ซึ่งมีทั้งพัก ทัวร์ รถบรรทุก แรงงานแบกของ แวร์เฮาส์ กระจายสินค้า เครื่องบิน ฯลฯ จะกว้างไปอีกแบบ รัฐบาลอาจจะกำหนดสโคปให้ชัดเจน แต่โดยทั่วไปค่าจ้างก็แพงอยู่แล้ว โดยเฉพาะที่ทำหน้าที่ดูแลการนำเข้า ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ส่วนแรงงานแบกของ หรือบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ก็ต้องมีความรู้ด้านภาษา เป้นต้น
"คนส่งของตามห้างต้องแต่งกายเรียบร้อย มีความรู้ด้านความปลอดภัย ไฮเทคโนโลยี ถึงจะแบกของแต่ต้องมีสกิล แรงงานกลุ่มนี้มีกว่าล้านคน เช่น คนขับรถบรรทุกก็เกิน 7 แสนคนแล้ว อีกทั้ง ยังมีแรงงานต่างด้าวเยอะมากในกลุ่มนี้" นายธนิต กล่าว