“ธุรกิจสายมู”สุดปัง จัดตั้งใหม่เพิ่มทุกปี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ตั้งแต่ปี 2562 - 2566 ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธา มีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น คาดเติบโตต่อเนื่องหลังหลายจังหวัดใช้เป็น Soft Power ดึงดูดการท่องเที่ยวเชิงศรัทธา สร้างรายได้ให้ท่องถิ่น
Key Point
- จำนวนธุรกิจสายมู ปี 62-66 มีจำนวน 134 ราย
- กรุงเทพมหานคร มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนธุรกิจสายมูสูงสุดของประเทศ คิดเป็น 46.27%
- หลายจังหวัดดึงสายมูเป็น Soft Power ท่องเที่ยว
ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธา” หรือ “ธุรกิจสายมู” หรือ สายมูเตลูซึ่งเป็นอีก 1 ธุรกิจที่เติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากคนมีความเชื่อในศาสตร์เร้นลับ การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ การเชื่อเครื่องราง ของขลัง ที่จะช่วยส่งเสริมด้านการงาน การเงิน โชคลาภ ความรัก เสริมดวงและโชคชะตา และยังมีความกังวล ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นช่องทางให้ภาคธุรกิจสบโอกาสที่จะนำความเชื่อในด้านต่าง ๆ มาสร้างรายได้ และส่งผลทำให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่ม
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ตั้งแต่ปี 2562 - 2566 ธุรกิจด้านความเชื่อและความศรัทธามีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบในแต่ละปี โดยปี 2562 จดทะเบียนจัดตั้ง 11 ราย ทุนจดทะเบียน 15.4 ล้านบาท ปี 2563 จัดตั้ง 11 ราย ทุน 7.59 ล้านบาท (ลดลง 7.81 ล้านบาท หรือ 50.71%) ปี 2564 จัดตั้ง 20 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 81.81%) ทุน 13.41 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 5.82 ล้านบาท หรือ 76.70%) ปี 2565 จัดตั้ง 24 ราย (เพิ่มขึ้น 4 ราย หรือ 20.00%) ทุน 27.45 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 14.04 ล้านบาท หรือ 104.70%) และ ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย (เพิ่มขึ้น 9 ราย หรือ 37.50%) ทุน 26.88 ล้านบาท (ลดลง 0.57 ล้านบาท หรือ 2.08%) ขณะที่ เดือนม.ค.-มี.ค. 2567 จัดตั้ง 12 ราย ทุน 7.51 ล้านบาท
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567) ธุรกิจความเชื่อความศรัทธามีนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวนทั้งสิ้น 134 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 135.89 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) ทั้งหมด แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 108 ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 26 ราย คิดเป็นสัดส่วน 80.60% และ 19.40% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ ในขณะที่ทุนจดทะเบียนรวมแบ่งเป็น บริษัทจำกัด 116.64 ล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 19.25 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 85.83% และ 14.17% ของนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ ตามลำดับ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนโดยสัญชาติไทย
ทั้งนี้เมื่อแบ่งตามพื้นที่ตั้งธุรกิจ มีธุรกิจตั้งอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร 62 ราย คิดเป็น 46.27% ของธุรกิจทั้งประเทศ และมีทุนจดทะเบียน 63.46 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ที่มีธุรกิจตั้งอยู่แบ่งตามภาค ได้แก่ ภาคกลาง 35 ราย ทุน 34.34 ล้านบาท ภาคตะวันออก 13 ราย ทุน 11.05 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 ราย ทุน 6.55 ล้านบาท ภาคเหนือ 7 ราย ทุน 2.99 ล้านบาท ภาคใต้ 6 ราย ทุน 14.40 ล้านบาท ภาคตะวันตก 4 ราย ทุน 3.10 ล้านบาท
มูลค่าตลาดของธุรกิจประเภทนี้ อาจพิจารณาจากรายได้ของนิติบุคคลในกลุ่มธุรกิจ โดยปี 2563–2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ รายได้รวมในปี 2563 มีจำนวน 28.76 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 61.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.13 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 และในปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 148.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.43 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564
อย่างไรก็ดี มูลค่าตลาดโดยรวมของธุรกิจในความเป็นจริงอาจมีมูลค่าสูงกว่านี้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ยังคงประกอบธุรกิจในรูปแบบบุคคคล และบางส่วนอาจประกอบธุรกิจร่วมกับธุรกิจหลักอื่นๆ เช่น การขายส่งเครื่องสำอาง ที่มีการขายเครื่องสำอางทั่วไป และเครื่องสำอางที่ผ่านการมูเตลู หรือการจัดจำหน่ายบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระเครื่อง และยังคงแฝงอยู่ในธุรกิจอื่น ๆ อาทิเช่น ร้านขายของโบราณ ร้านแผงลอยตลาด
สอดคล้องกับข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่สำรวจธุรกิจดาวเด่นใน ปี 67 พบว่า ธุรกิจความเชื่อ สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย จะเป็นธุรกิจที่มาแรง โดยเฉพะธุรกิจสายมูที่คาดว่ามีเงินสะพัดในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 10,000-15,000 ล้านบาท หรือโตขึ้น10-20 % เพราะคนไทยยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
ธุรกิจสายมูเตลูในปัจจุบันมีความหลากหลายและผสมผสานกับพฤติกรรมของคนตามยุคสมัยและเจเนอเรชั่น ตั้งแต่ การดูดวง โหราศาสตร์ ไพ่ยิปซี วัตถุมงคลเครื่องราง ไม่ว่าจะเป็นหินมงคล หยก ตะกรุด ตัวเลข สีมงคล เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถ Wallpaper เคสโทรศัพท์ หน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ และที่ปรึกษา ฮวงจุ้ย
นอกจากนี้ ยังมีผสมผสานกับเรื่องของการท่องเที่ยว “สายมู” กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบมูเตลู ซึ่งได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆไม่ว่าจะเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปยังสถานที่หรือในจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านความเชื่อความศรัทธา จน ผลักดันเป็น Soft Power ที่ใช้ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเผยแพร่วัฒนธรรม กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า หลายจังหวัดใช้กระแสความเชื่อความศรัทธาเป็นไฮไลท์ท่องเที่ยวดึงรายได้เข้าท้องถิ่น เป็นการท่องเที่ยว ‘เชิงศรัทธา’ โดยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่นิยมมาท่องเที่ยวเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากมีรากฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงศรัทธาถือเป็นรายได้สำคัญสำหรับไทย สามารถกระจายรายได้สู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าชุมชุม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ท้องถิ่นช่วย “กระตุ้นระบบเศรษฐกิจ” โดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างดี
ส่วนใหญ่แหล่งท่องเที่ยว สำหรับสายมูที่น่าสนและได้รับความนิยม ได้แก่ เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี โดยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 24,000 ต่อวัน ถ้ำนาคา จังหวัดบึงกาฬ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์จ.นครศรีธรรมราช ท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม คำชะโนด จ.อุดรธานี ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย จ.ตรัง /พญาเต่างอย จ.สกลนคร เป็นต้น
ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร จะนิยมไป วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) พระตรีมูรติ หน้าตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ เทวาลัยพระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ศาลพระแม่ลักษมี ตึกเกษรวิลเลจ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ฯลฯ
ข้อมูลจาก Future Market Insight 2023 เผยว่า การท่องเที่ยวเชิงศรัทธามีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 10 ปี จาก 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน เป็น 4.09 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2576 ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่”ธุรกิจสายมู”จะเติบโตแรงในยุคนี้