เช็คสถานะรถไฟไทย-จีน 'คมนาคม' ปิดทางต่อสัญญา ก่อสร้างมา 6 ปี คืบหน้าแค่ 31.9%
เปิดความคืบหน้างานก่อสร้าง “ไฮสปีดไทยจีน” ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ผลงานสะสม 31.92% ล่าช้ากว่าแผน 39.52% ขณะที่ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ยังอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา “คมนาคม” ขีดเส้นแล้วเสร็จเปิดปี 2571
KEY
POINTS
- เปิดความคืบหน้างานก่อสร้าง "ไฮสปีดไทยจีน" ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ผลงานสะสม 31.92% ล่าช้ากว่าแผน 39.52%
- ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 2 สัญญาสุดท้าย ยังอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา
- "คมนาคม" ขีดเส้นแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2571 เชื่อมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงปลายทางสถานีนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2560 โดยโครงการดังกล่าวปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา
ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย
ล่าสุดนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2567 โดยได้เร่งรัดดำเนินโครงการด้านคมนาคมหลายส่วน รวมไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร งบประมาณการลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2571
สำหรับความคืบหน้างานโยธาโครงการดังกล่าว ปัจจุบันพบว่าข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ. 2567 มีผลงานสะสม 31.92% ขณะแผนดำเนินงานกำหนดไว้ 71.44% ดังนั้นภาพรวมจึงพบว่างานโยธายังล่าช้ากว่าแผนถึง 39.52% กระทรวงฯ จึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้การก่อสร้างล่าช้า ให้หลีกเลี่ยงการต่อขยายสัญญาออกไปอีก เว้นแต่เป็นกรณีเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมอบให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ช่วยกำกับดูแลการก่อสร้างของ ร.ฟ.ท. ให้เป็นไปตามแผนงาน ตลอดจนเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง
สำหรับสถานะงานโยธา 14 สัญญา ปัจจุบันมีรายละเอียดดังนี้
สัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง - ปางอโศก
ระยะทาง 3.50 กิโลเมตร
วงเงิน 362 ล้านบาท
สถานะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%
สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว - กุดจิก
ระยะทาง 11.00 กิโลเมตร
วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท
สถานะก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%
สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า
ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร
วงเงิน 9,348.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 0.10%
กำหนดแล้วเสร็จ 15 ต.ค.2569
สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง
ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร
วงเงิน 4,279.33 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 56.84%
กำหนดแล้วเสร็จ 7 มิ.ย.2568
สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า – ลำตะคอง
ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร
วงเงิน 9,838.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 47.06%
กำหนดแล้วเสร็จ 9 ม.ค.2569
สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด
ระยะทาง 37.45 กิโลเมตร
วงเงิน 9,848.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 73.28%
กำหนดแล้วเสร็จ 20 พ.ค.2568
สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา
ระยะทาง 12.38 กิโลเมตร
วงเงิน 7,750.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 6.31%
กำหนดแล้วเสร็จ 3 ม.ค.2568
สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร
วงเงิน 9,207 ล้านบาท
สถานะรอลงนามสัญญา
สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร
ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร
วงเงิน 10,570.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 0.28%
กำหนดแล้วเสร็จ 3 ม.ค.2568
สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร - บ้านโพ
ระยะทาง 23.00 กิโลเมตร
วงเงิน 11,525.35.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 28.07%
กำหนดแล้วเสร็จ 13 ส.ค.2567
สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย
วงเงิน 6,573.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 6.61%
กำหนดแล้วเสร็จ 3 ม.ค.2568
สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว
ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร
วงเงิน 9,913.00 ล้านบาท
สถานะรอลงนามสัญญา
สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว - สระบุรี
ระยะทาง 31.60 กิโลเมตร
วงเงิน 9,429.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 1.03%
กำหนแล้วเสร็จ 15 ต.ค.2569
สัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย
ระยะทาง 12.99 กิโลเมตร
วงเงิน 8,560.00 ล้านบาท
สถานะงานโยธา 51.62%
กำหนดแล้วเสร็จ 7 มิ.ย.2568
ทั้งนี้ ไฮสปีดเทรนช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานช่วงกรุงเทพ-หนองคาย ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและจีน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ด้วยขีดความสามารถในการให้บริการความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 1 ชั่วโมง 30 นาที
โดยกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายเร่งก่อสร้างเพื่อเปิดให้บริการในปี 2571 ซึ่งจะให้บริการรวม 6 สถานี ประกอบด้วย
1. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
2. สถานีดอนเมือง
3. สถานีอยุธยา
4. สถานีสระบุรี
5. สถานีปากช่อง
6. สถานีนครราชสีมา