นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’ ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม

นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’  ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม

ปธ.สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผย สถานการณ์สู้รบในเมืองเมียวดียังไม่ชัด การค้าชายแดนยังปกติแค่เบาบางลง ขณะที่"ธนิต โสรัตน์" ชี้ผลกระทบการค้าระยะสั้น ด้าน‘ทูตพาณิชย์’ เกาะติดสู้รบ ‘เมียนมา’ชี้ไม่กระทบ ‘การค้า-ขนส่ง’ ชายแดน

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งประกอบด้วยทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) สามารถเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธีของทหารเมียนมา ที่บ้านปางกาน จังหวัดเมียวดี ตรงข้าม ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้สำเร็จ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2567

สถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมาบรรยากาศที่ หน้าด่านศุลกากรแม่สอด บ้านริมเมย ตลาดท่าสายลวด รวมถึงบริเวณริมแม่น้ำเมย ฝั่งตรงข้ามวัดห้วยมหาวงค์ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในช่วงเช้าของวันที่ 8 เม.ย.2567 ยังคงเป็นไปด้วยความสงบ โดยประชาชนยังคงมีการข้ามแดนและส่งสินค้าตามปกติ และทำใหนักธุรกิจบริเวณชายแดนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก เป็นด่านการค้าชายแดนสำคัญที่มีมูลค่าการค้าสูงเป็นอันดับ 2 โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดน 106,835 ล้านบาท รองจากด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา ที่มีมูลค่าการค้า 226,254 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกในปีงบประมาณ 2566 คือ โทรศัพท์พร้อมอุปกรณ์ 4,376 ล้านบาท , น้ำมันดีเซล 3,480 ล้านบาท

เม็ดพลาสติก 2,736 ล้านบาท , น้ำมันปาล์มโอลีนบริสุทธิ์ 2,459 ล้านบาท และเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ 2,315 ล้านบาท

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรกในปีงบประมาณ 2566 คือ เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6,343 ล้านบาท , แป้งข้าวจ้าว 1,283 ล้านบาท , โค-กระบือ (มีชีวิต) 963 ล้านบาท , เศษอลูมิเนียมเก่า 914 ล้านบาท และพริกสด 620 ล้านบาท

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า ได้โทรศัพท์ไปสอบถามเพื่อนที่แม่สอดและเมียวดี ซึ่งทั้งสองฝั่งยืนยันตรงกันว่าด่านศุลกากรฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา ยังเปิดให้บริการ แต่รถขนส่งสินค้าบางตาลง และการสัญจรไปมาระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ยังมีให้เห็นอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง 

นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’  ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม

“จะมีประชาชนที่อาศัยในเขตเมืองเมียวดี ที่มีฐานะดีหรือมีญาติสนิทอยู่ที่แม่สอดบางส่วนได้ข้ามแม่น้ำเมยมาอาศัยอยู่บ้านญาติ และบางส่วนเริ่มเก็บทรัพย์สินสำคัญเพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้” นายกริช กล่าว

ทั้งนี้สถานการณ์อาจมีการเจรจากันอยู่ระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านกับฝ่ายรัฐบาลทหารจึงยังคงคุมเชิงกันอยู่ และต้องรอดูเหตุการณ์ว่าจะบานปลายหรือไม่

สำหรับปัจจัยที่สังเกตว่าเหตุการณ์จะเป็นลบหรือบวกอยู่ที่มีการอพยพข้าราชการชั้นสูงของเมียนมาเพิ่มขึ้นจากวันที่ 7 เม.ย.2567หรือไม่ โดยหากไม่มีการอพยพเพิ่มคงไม่จะมีปัญหาความรุนแรงขึ้น แต่หากมีการอพยพระลอกใหญ่คงจะต้องมีการโจมตีขึ้นแน่นอน

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกระเหรี่ยงที่เป็นกลางคงไม่อยากจะสูญเสียผลประโยชน์จากการค้าชายแดนแน่นอน ซึ่งเม็ดเงินจากผลประโยชน์ดังกล่าวมีมากพอที่จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจเมียนมาได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้จึงคาดว่าทุกจะรักษาไม่ให้กระทบการค้าชายแดนไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการนำเข้าสินค้าที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงเมียนมา” นายกริช กล่าว

นอกจากนี้ได้รับข้อมูลเพื่อนนักธุรกิจที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แจ้งว่า สถานการณ์ทางฝั่งจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ปะทะระหว่างทหารประจำการของฝั่งรัฐบาลกับทหารฝ่ายต่อต้าน

นักธุรกิจจับตาชายแดน ‘แม่สอด’  ชี้ ‘การค้า’ เดินหน้าต่อท่ามกลางสงคราม

 

 

รวมทั้งได้ตรวจสอบข่าวจากหนังสือพิมพ์ของเมียนมาหลายฉบับ ซึ่งมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ปรากฏว่าการนำเสนอข่าวเรื่องของการสู้รบกันที่เมียวดี มีให้เห็นเพียงสองฉบับเท่านั้น นอกนั้นอีก 5 ฉบับไม่ได้ตีข่าวเรื่องนี้เลย จึงทำให้เกิดความสับสนว่าทำไมไม่มีข่าวที่เป็นข่าวใหญ่สำหรับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย

นายธนิต โสรัตน์ อดีตเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา กล่าวว่า จากสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา พบว่า การค้าขายชายแดนดังกล่าวทำให้การขนส่งสินค้าต้องยุติลง โดยข้อมูลที่สอบถามข้อมูลกับสาขาธุรกิจอำเภอแม่สอด พบว่าการขนส่งบางส่วนดำเนินการไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถออกมาได้ ส่วนเครื่องบินที่ออกมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2567 อาจเป็นการขนทรัพย์สิน ซึ่งบางส่วนเป็นธนาคารของรัฐที่มีจำนวนหนึ่งเพราะเป็นเมืองเศรษฐกิจลำดับต้นของเมียนมา

ทั้งนี้ในช่วงที่เมียนมามีปัญหาการค้าขายจะเชื่อมการขนส่งผ่านไทยอย่างเดียว โดยสินค้าเครื่องจักรจะขนส่งมาจากท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นโอกาสของคนไทยและไม่น่าห่วงเพราะยังไงก็ต้องกินต้องใช้ คนอื่นอาจมองเป็นวิกฤติเพราะการขนส่งสินค้าในรูปแบบปกติทำไม่ได้ ซึ่งสินค้าจีนที่เป็นคู่แข่งไทยก็จะลงมายากเพราะเส้นทางยาวกว่า

นายธนิต กล่าวว่า การขนส่งผ่านเส้นทางแม่สอด ถือเป็นศูนย์กระจานสินค้าได้ทั้งทางเหนือ กลาง ใต้ ซึ่งถือเป็นโอกาสไทยที่ไม่น่ากังวล โดยจะเห็นได้ว่ากระเหรี่ยงปิดชายแดนบางส่วนมานานแล้ว แต่ยังมีการค้าขายเส้นทางเพราะมีการแบ่งกันทำมาหากิน

“นักธุรกิจไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งกระเหรี่ยงและเมียนมา ปัญหานี้ถือเป็นผลกระทบระยะสั้นในช่วงนี้ที่ไม่มีใครกล้าผ่านแต่เชื่อว่าภายใน 7 วันนี้ ก็จะผ่อนคลายเพราะทั้งเมียนมา กระเหรียงในที่สุดก็ต้องตกลงกันได้เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงเห็นว่ามีการรบกันแต่การค้าก็ยังอยู่ได้เพียงแต่อาจขายได้แพงขึ้นเพราะคู่แข่งไม่มี” นายธนิต กล่าว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ติดตามสถานการณ์สถานการณ์กองกำลังกะเหรี่ยง KNU ยึดจังหวัดเมียวดี ของเมียนมา ที่อาจมีผลต่อการค้าการขนส่งไทยอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2567 สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงย่างกุ้ง ได้แจ้งข่าวและประเมินสถานการณ์ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลกับผู้ประกอบการขนส่งโลจิสติกส์ในพื้นที่ทราบว่า บริเวณด่านเมียวดียังเปิดให้บริการนำเข้าส่งออกตามปกติ และเส้นทางขนส่ง ถนนทอโกโก เส้นทางเลี่ยงทดแทน ถนนกอกอเร็ท ก็ยังสามารถใช้ขนส่งได้

ดังนั้น แม้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงจะยึดเมืองเมียวดีได้แล้ว แต่การค้าและการขนส่งที่เมืองเมียวดียังสามารถดำเนินไปได้ แต่มีความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อการค้าและการขนส่งในอนาคต 

รวมทั้งในกรณีหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายจนทำให้ไม่สามารถใช้ด่านเมียวดีหรือกระทบเส้นทางขนส่งนั้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้หารือกับผู้ส่งออก เพื่อเตรียมการขนส่งผ่านด่านหรือเส้นทางอื่นเพิ่มเติมจากแม่สอด-เมียวดี เช่น แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก , ระนอง-เกาะสอง , ท่าเรือแหลมฉบัง หรือด่านอื่นๆ เป็นทางเลือกเพิ่มเติม

“ภาพรวมการค้า การส่งออกของไทยกับเมียนมา ยังไม่ได้มีผลกระทบ แต่ระหว่างนี้กรมฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”นายภูสิต กล่าว