มิติด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม … อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของ EEC ที่ต้องมีคำตอบ
นอกเหนือไปจากเป้าหมายในมิติด้านเศรษฐกิจที่มุ่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว อีกหนึ่งมิติที่มีความละเอียดอ่อนและมองข้ามไม่ได้คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ที่เกิดจากการพัฒนาโครงการ EEC ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่และโจทย์สำคัญที่มีความท้าทาย อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศในระยะยาว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในความท้าทายสำคัญของการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก คือต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากผังเมือง EEC โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดจากมลพิษในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเสีย ขยะพิษ มลพิษทางอากาศ ปัญหาการแย่งน้ำ รวมไปถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม และการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมให้กว้างขึ้น ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของ EEC ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชุมชนแล้ว ยังกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิต และระบบนิเวศ (Ecosystem) รวมไปถึงความเหมาะสมและศักยภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่อีกด้วย
ดังนั้น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ EEC จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและดูแลระบบนิเวศอย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความต้องการของชุมชนท้องถิ่น เพื่อลดผลกระทบและความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยไทยอาจถอดบทเรียนและนำแนวคิดจากต่างประเทศในเรื่อง “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” หรือ “Blue economy” มาปรับใช้ ซึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นอย่างมากในเรื่องนี้คือ “นอร์เวย์” เพราะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งค่อนข้างสูง ทั้งอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ภาคการขนส่งทางทะเล และภาคประมง โดยปัจจุบันนอร์เวย์
ได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและนำเทคโนโลยีทางทะเลที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งระดับชาติแบบบูรณาการ โดยคำนึงถึงความสมดุลและความเสี่ยงของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลร่วมกันของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ พร้อมกับเน้นการมีส่วนร่วมและคำนึงถึงประโยชน์ของคนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนร่วมกับชุมชน
ปัจจุบันไทยเองก็เริ่มมีแนวคิดในการนำความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ EEC เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับชุมชนแล้วเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ หรือ Integrated Area-based Water Resource Management (IWRM), การเชื่อมโยงเข้ากับฐานข้อมูล Big data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC)
เพื่อรองรับการทำเกษตรกรรมแบบ Smart farming ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และตามความต้องการวัตถุดิบของภาคอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การจัดการบนฐานระบบนิเวศ (Ecosystem-Based Management : EBM) การวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล (Marine Spatial Planning : MSP) และการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ (Integrated coastal management : ICM) ซึ่งแนวคิดเหล่านี้คือกลไกสำคัญที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่าง ๆ อย่างยั่งยืน สมดุล และเต็มศักยภาพมากขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ คือการดึงดูดนักวิจัย นวัตกร นักลงทุน และบริษัทวิจัยชั้นนำ รวมทั้งเครือข่ายของกลุ่มสตาร์ตอัปและหน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยีชั้นนำของโลกให้เข้ามาตั้งฐานและทำงานร่วมกันในพื้นที่ EECi เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารจัดการน้ำและการลดก๊าซเรือนกระจกไปพร้อม ๆ กัน แต่ต้องไม่ลืมว่าอีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กันและจำเป็นต้องดำเนินการคู่ขนานกันไปด้วย คือการรับฟังเสียงจากประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาที่เชื่อมโยงประโยชน์สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง