ไม่พลิก “เกรียงไกร เธียรนุกุล “นั่งประธานสภาอุตฯสมัยที่2
ที่ประชุมส.อ.ท. มีมติเอกฉันท์ เลือก”เกรียงไกร เธียรนุกุล”เป็นประธานสภาอุตสาหกรรม สมัยที่ 2 ชูนโยบายแก้ไขปัญหาสินค้าต่างชาติทะลักเข้าไทย ปรับอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมเสริมแกร่งเอสเอ็มอ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2567-25692 ณ ห้องประชุม 208-209 (ชั้น 2) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีคณะกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 366 คน ซึ่งมาจากผู้แทนสมาชิกประเภทสามัญจากทั่วประเทศจำนวน 244 คน กรรมการประเภทแต่งตั้งที่มาจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท. และจาก 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ รวม 122 คน
โดยวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้เป็นการเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วาระปี 2567-2569 โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมัยที่ 2
นายเกรียงไกร กล่าวว่า นโยบายที่ใช้ขับเคลื่อน ส.อ.ท. ในวาระแรก คือ ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) ที่ได้วางแผนไว้ คือ วาระแรก 2 ปีและต่อวาระสองอีก 2 ปี ซึ่งในวาระแรกได้เน้นการขับเคลื่อน First Industries หรืออุตสาหกรรมเดิม และขยายผลสู่ Next-GEN Industries ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curves) ที่ขับเคลื่อนด้วย BCG Model (Bio-Circular-Green) ที่เป็นทิศทางของโลกในปัจจุบัน
“ เศรษฐกิจโลกมีความท้าทายและมีความผันผวนค่อนข้างมาก ประกอบกับประเทศไทยเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลให้ SMEs กำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และยังต้องเผชิญกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาดัมพ์ตลาดในหลายกลุ่มสินค้า ทำให้หลายโรงงานอยู่ไม่ไหว ต้องปิดตัวไป บางรายผันตัวเป็นผู้นำเข้าแทน ซึ่งเราจะให้ความสำคัฯญอย่างเร่งด่วน โดยจะเข้าหารือกับกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรม กระทรวงพาณิชย์ในป้องกันการทุ่มตลาด ทั้งนี้เพื่อเข้ามาช่วยเหลือและประคองให้ผู้ประกอบการ SMEs อยู่รอด"
ส่วนในระยะยาวจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเก่าที่ต้องปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตหรือ Next-GEN Industries ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม "S-CURVE BCG (Bio Circular Green Economy)
นายเกรียงไกร กล่าว่า นอกจากนี้ นโยบายใน 2 ปีข้างหน้านี้ จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้กับ SMEs อย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับภาครัฐในการหามาตรการต่างๆ ที่จะช่วยผลักดัน SMEs ทั่วประเทศในการเปลี่ยนผ่านจาก SMEs ธรรมดาสู่ "Smart SMEs" ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาทำได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยมี 3 ส่วนที่ให้ความสำคัญ ได้แก่
1. Go Digital ล่าสุดได้สั่งการให้กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลของ ส.อ.ท. เตรียมแพ็กเกจโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สำคัญภายใต้โครงการ "Digital One" เพื่อช่วยยกระดับ SMEs ทั่วประเทศ เช่น โปรแกรมด้านการผลิต ด้านการบัญชี และด้านการควบคุมต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดรายจ่าย ซึ่งปกติแต่ละโปรแกรมมีมูลค่าเป็นหลักหมื่น หลายโปรแกรมรวมกันเป็นหลักแสน แต่เราได้ให้กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างและรวบรวมแพ็กเกจที่สำคัญๆ ที่สมาชิก ส.อ.ท.จำเป็นต้องใช้ โดยทุกโปรแกรมจากแพ็กเกจหลักแสนจะลดเหลือเพียง 1,110 บาท เพื่อให้ SMEs สามารถจับต้องและเป็นเจ้าของได้ และนำไปพัฒนาตัวเองได้ทันที ตรงนี้เป็นนโยบายเชิงรุกที่จะช่วยยกระดับให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี (Smart SMEs) ได้เร็วขึ้น
2. Go Innovation เป็น SMEs "จิ๋วแต่แจ๋ว" ด้วยนวัตกรรมซึ่งจะคล้ายกับ SMEs ของไต้หวันและอิสราเอล ล่าสุดทาง ส.อ.ท. ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมที่เรียกว่า “Innovation One” โดยกระทรวง อว. ได้ให้งบสนับสนุน 1,000 ล้านบาท และส.อ.ท. สมทบอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และจะบุกเต็มที่ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
3. Go Global จะผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศได้ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ หากเป็น SMEs ที่เป็นซัพพลายเชนของผู้ส่งออกต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตในไทย จะผลักดันให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานตัวเองไปกับสินค้าต่างๆ
ทั้ง 3 Go เป็นนโยบายใหม่ที่จะมาเสริมนโยบาย ONE FTI ซึ่งหากทำตามแผนตามยุทธศาสตร์นี้ จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคการผลิตของไทย สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันได้ดีขึ้น
“ในวาระปี 2565-2567 ที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย ONE FTI ถือเป็นการวางพื้นฐานในการปรับกระบวนการทำงาน ซึ่งเดินหน้าไปแล้วหลายโครงการ แต่สำหรับวาระสมัยที่ 2 ปี 2567-2569 นี้ ผมคิดว่าเป็นความท้าทายและจะมีการขับเคลื่อนอย่างเต็มสูบ เพื่อยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขัน อะไรที่เราทำอยู่ เราจะทำต่อ และทำให้เกิดผล เราจะจับมือกับผู้ประกอบการ SMEs ภาครัฐและหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อก้าวข้ามความท้าทายและอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกัน และเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพิ่มขึ้น เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม” นายเกรียงไกร กล่าว