โลกเดือด! ดันการใช้ไฟฟ้าพุ่ง จับตาพ.ค.นี้ การใช้ไฟพีคทุบสถิติอีกครั้ง?
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. ของทุกปีพุ่งสูงขึ้น รวมถึงการที่เศรษฐกิจฟื้นตัว จับตาเดือนพ.ค. 2567 การใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในปีนี้อาจจะทะลุสถิติปีที่ผ่านมา
KEY
POINTS
- ยิ่งอุณหภูมิสูง-เศรษฐกิจฟื้น การใช้พลังงานในประเทศไทยก็เพิ่มมากขึ้น มีผลต่อการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
- วันที่ 6 เม.ย. 2567 ยอดใช้ไฟพีคที่ 34,656.4 เมกะวัตต์ ในเวลา 20.54 น. ใกล้ทำลายสถิติพีคประเทศเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ แล้ว
- สาเหตุของการใช้ไฟฟ้าพีคในช่วงกลางคืนมาจาก อุณหภูมิ การติดตั้งโซลาร์เซลล์การชาร์จรถ EV ในเวลากลางคืน
- "สนพ." คาดการณ์ว่าการใช้ไฟพีคปี 2567 จะพุ่งสูงสุดเกิน 35,000 เมกะวัตต์ได้
ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นมากแค่ไหน เศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากเท่าไหร่ การใช้พลังงานในประเทศไทยก็เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน โดยปีที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้น นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทย อุณหภูมิที่สูงขึ้น ยอดการใช้ไฟพีคได้ทำลายสถิติในวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ แม้อัตราการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ตั้งแต่ม.ค.-เม.ย. 2567 จะเรียกเก็บที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ลดลงจากช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมาที่เรียกเก็บ 4.45 บาทต่อหน่วย แต่บิลอัตราการจ่ายค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะเดือนเม.ย. 2567 บางบ้านอาจจะสูงกว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพราะยิ่งใช้ไฟฟ้าฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้น ก็จะยิ่งต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาที่มาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น บวกกับการใช้ไฟฟ้าในบ้านสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้การใช้ไฟพีคของ 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
วันที่ 6 เม.ย. 2567 ยอดใช้ไฟพีคถึง 34,656.4 เมกะวัตต์ ในเวลา 20.54 น. ใกล้ทำลายสถิติพีคประเทศเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41 น. ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ แล้ว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สาเหตุของการใช้ไฟฟ้าพีคในช่วงกลางคืนมาจาก
1. อุณหภูมิ ที่ร้อนสะสมจึงมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการเปิดแอร์ หรือพัดลมระบายความร้อน
2. การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพิ่มขึ้น โดยช่วงกลางวันจะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า แต่เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หมดลงในช่วงเวลากลางคืนจึงหันกลับมาใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า เป็นต้น
3. การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในช่วงเวลากลางคืนที่เริ่มมียอดการใช้เพิ่มมากขึ้น
"จากสถิติการใช้ไฟฟ้าของไทยแบบเรียลไทม์ในระบบของสำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย. 2567 พบว่า ยอดการใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 วันดังกล่าวสูงเกิน 34,656 เมกะวัตต์ ในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. ดังนั้น หากเทียบยอดพีคปีที่ผ่านมาคือช่วงเดือนพ.ค. 2566 ที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 34,827 เมกะวัตต์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าพีคปีนี้อาจจะทำงายสถิติพีคปีที่ผ่านมาก็ได้" แหล่งข่าว กล่าว
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คาดการณ์ว่าการใช้ไฟพีคปี 2567 จะพุ่งสูงสุดเกิน 35,000 เมกะวัตต์ได้ ทั้งนี้ ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 นี้จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ยอดการใช้ไฟฟ้าปรับลดลง แต่ก็ต้องจับตาอุณหภูมิในช่วงเดือนพ.ค. 2567 นี้อีกครั้งว่าสถิติการใช้ไฟพีคจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาหรือไม่
รายงานข่าว ระบุว่า เมื่อย้อนดูสถิติยอดการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย. 2567 การใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย
เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. อยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์
เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์