ธ.ก.ส. แบกหนี้ ‘ประชานิยม’ รัฐค้างจ่าย 6.1 แสนล้าน รอบอร์ดเคาะแจกวอลเล็ต

ธ.ก.ส. แบกหนี้ ‘ประชานิยม’ รัฐค้างจ่าย 6.1 แสนล้าน รอบอร์ดเคาะแจกวอลเล็ต

“คลัง” ยืนยันใช้เงิน ธ.ก.ส.แจกดิจิทัลวอลเล็ต 1.72 แสนล้าน เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การกู้เงิน “กฤษฎีกา” ชี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง สหภาพฯ ธ.ก.ส.ส่งหนังสือ 4 หน่วยงาน “ธปท.-สศค.-สคร.-กฤษฎีกา” เคลียร์ปมใช้เงินแบงก์ “ธีระชัย” ชี้อาจถึงทางตัน เสี่ยงขัดกฎหมาย

ความพยายามในการหาแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลเพื่อมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต แม้จะมีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินว่าจะมาจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย 

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ที่รัฐบาลได้มีการตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติม

2.การใช้เงินตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 172,300 ล้านบาท สำหรับเกษตรกร 17 ล้านคน 

3.บริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 175,000 ล้านบาท

ขณะนี้มีข้อทักท้วงและรอความชัดเจนของการตีความทางกฎหมาย โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.ต้องการให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่าใช้เงินของ ธ.ก.ส.วงเงิน 172,300 ล้านบาท ได้หรือไม่

รวมทั้งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลเกษตรกร ซึ่งล่าสุดมีหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล 619,173 ล้านบาท จากการโครงการที่รัฐบาลอนุมัติดำเนินการระหว่างปี 2554-2583 

โดยมีโครงการที่อนุมัติในรัฐบาลปัจจุบัน อาทิ โครงการการพักหนี้เกษตรกร ดำเนินการวันที่ 1 ต.ค.2567-30 ก.ย.2569 วงเงินรอการชดเชยจากรัฐบาล 32,573 ล้านบาท , โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/2567 ดำเนินการวันที่ 31 ต.ค.2566-31 ธ.ค.2567 วงเงินรอการชดเชย 1,286 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวฯ ปีการผลิต 2566/2567 ดำเนินการวันที่ 7 พ.ย.2566-31 ธ.ค.2567 วงเงินรอการชดเชย 3,736 ล้านบาท

สำหรับหนี้ส่วนนี้รัฐบาลใช้วิธีทยอยชำระคืนให้ ธ.ก.ส.โดยตั้งงบประมาณผ่านเงินชดเชยเงินคงคลังเพื่อใช้หนี้ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 เช่นเดียวกับปี 2567 รัฐบาลตั้งวงเงินส่วนนี้ 1.18 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลยังมีพื้นที่ใช้เงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ดำเนินการตามนโยบายรัฐ

ในขณะที่งบประมาณปี 2568 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณชดเชยเงินคงคลังในรายจ่ายงบประมาณปี 2568 แต่อย่างใด

แหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ต

พร้อมชง ครม.ไฟเขียวภายในเม.ย.นี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า การใช้เงิน ธ.ก.ส.ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินคลัง พ.ศ. 2561 วงเงิน 172,300 ล้านบาท จะเป็นไปตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตวันที่ 10 เม.ย.2567 เห็นชอบในอำนาจหน้าที่ ธ.ก.ส.จึงไม่มีประเด็นน่ากังวล

“ส่วนใหญ่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นการกู้เงิน ธ.ก.ส. เหมือนเป็นผู้ไม่มีความรู้ด้านกลไกงบประมาณ การดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. เป็นการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังซึ่งถือเป็นอำนาจของรัฐบาลอยู่แล้ว”

ส่วนประเด็นการทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ และไม่ส่งกระทบไทม์ไลน์ของโครงการ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน เม.ย.นี้

ในขณะนี้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเองก็ไม่ได้เป็นกังวล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินโครงการผ่านหน่วยของรัฐ สถานบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เป็นการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง ให้ดำเนินการไปก่อนโดยใช้เงินในสัดส่วนที่บริหารจัดการได้ ไม่เป็นภาระ โดยมีการตั้งงบประมาณคืนในปีถัดมา ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจะต้องคืนให้กับโครงการใดก่อน อย่างกรณี ยืม ธ.ก.ส.จำนวน 1.7 แสนล้าน แล้วตั้งงบคืนปีละ 8 หมื่นล้าน 3 ปีก็ใช้หมดแล้ว แต่เมื่อตั้งงบใช้คืน ก็ขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการภาระงบประมาณว่าจะเลือกคืนให้โครงการไหนก่อน

ทั้งนี้ เงินที่รัฐบาลจะต้องตั้งคืนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ดำเนินการตามนโยบายกึ่งการคลังเป็นไปตามกรอบของวิธีการงบประมาณอยู่แล้ว ปัจจุบันกรอบการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ยังอยู่ในกรอบ 32% ของวงเงินงบประมาณ โดยยังไม่มีแผนว่าจะขยายเพิ่ม ทั้งนี้เมื่องบประมาณในปีถัดไปมีผลบังคับใช้ก็จะทำให้ขยายฐานงบประมาณเพิ่มขึ้น

“ดิจิทัลวอลเล็ต” กระตุ้นเศรษฐกิจตรงเป้า

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระชากให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะซึมยาวมาโดยตลอดให้ได้หันหัวขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะเข้ามากระตุ้น และยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ทั้งมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดึงดูดการลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว

“ผมมั่นใจด้วยระบบของดิจิทัลวอลเล็ตที่สามารถกำหนดการใช้งานได้ แตกต่างจากการแจกเงินแบบ Helicopter Money หรือโปรยเงินสู่มือประชาชน ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีมานานแล้วและประเทศไทยก็เคยทำ ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง” นายจุลพันธ์ กล่าว

“กฤษฎีกา” ชี้บอร์ด ธ.ก.ส.ต้องรับผิดชอบ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตได้หารือครั้งล่าสุดเกี่ยวกับแหล่งเงิน โดยจะใช้งบประมาณปี 2567-2568 และอีกส่วนดําเนินการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ซึ่งต้องเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ และไม่แน่ใจว่ากระแสข่าวที่จะกู้เงินจาก ธ.ก.ส.มาจากไหน ยืนยันว่าในที่ประชุมไม่ได้หารือเรื่องนี้

ส่วนแหล่งเงิน 172,300 ล้านบาท เป็นข้อเสนอของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งในหลักการดำเนินการได้เช่นเดียวกับโครงการโคล้านตัว ที่ต้องเขียนรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนมาก่อน

สำหรับประเด็นการใช้เงินตามมาตรา 28 โดยใช้เงิน ธ.ก.ส.จะต้องผ่านมติคณะกรรมการ ธ.ก.ส. และจากนั้นต้องพิจารณาตามมาตรา 27 และ 28 โดยประเด็นการตรวจสอบการใช้เงินเป็นรายละเอียดที่กระทรวงการคลังต้องไปดู ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตครั้งล่าสุดไม่ได้หารือประเด็นนี้

ในขณะที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.ต้องการให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมาย ธ.ก.ส.จะแยกส่งให้คณะกรรมกฤษฎีกาหรือจะส่งพร้อมกับความเห็นของ ครม.ก็ได้ เพราะขั้นตอนการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกามี 2 แบบ คือ 1.การส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นประกอบการประชุม ครม. และ 2.การหารือโดยตรงกับคณะกรรมการกฤษฎีกาผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีปัญหาประเด็นข้อกฎหมายตรงไหน

“ผมไม่หนักใจในเรื่องการตีความข้อกฎหมายส่วนนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของกฤษฎีกาอยู่แล้วที่ต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของรัฐบาลถูกต้องตามกฎหมาย” นายปกรณ์ กล่าว

สหภาพฯ ส่งหนังสือถึง 4 หน่วยงาน

นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.ให้สัมภาษณ์รายการกรุงเทพธุรกิจ บิซอินไซท์ ช่องเนชั่นทีวี 22 โดยระบุว่าวันที่ 22 เม.ย.นี้ สหภาพฯ จะส่งหนังสือถึง 4 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อสอบถามความเป็นไปได้การใช้เงิน ธ.ก.ส. วงเงิน 172,300 ล้านบาท ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลจะเริ่มดำเนินการไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้สหภาพฯ ต้องการความชัดเจนว่าใช้เงินธ.ก.ส.ได้หรือไม่และเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการจัดตั้งธนาคารหรือไม่เพราะมีทั้งฝ่ายเห็นว่าดำเนินการได้และไม่ได้ ซึ่งการที่ ธ.ก.ส.เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลังจึงต้องสอบถามหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงรวมถึงความชัดเจนด้านข้อกฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ต้องดูสภาพคล่อง-มีมติครม.รองรับ

นอกจากนี้แม้ท้ายที่สุด 4 หน่วยงานให้ความเห็นว่าดำเนินการได้ แต่สหภาพฯ จะพิจารณาต่อว่ามีมติ ครม.รองรับหรือไม่ และ ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องเหลือเพียงพอหรือไม่ เพราะวงเงินค่อนข้างสูง และหลังจากจ่ายเงินให้รัฐบาลแล้วจะกระทบสภาพคล่องเพียงใด เพราะ ธ.ก.ส.มีภารกิจหลักช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศรวมทั้งต้องพิจารณาด้วยว่าเงื่อนไขหรือแผนการชำระคืนเงินจะเป็นอย่างไร เพราะมีต้นทุนการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง

“การกู้เงิน ธ.ก.ส.โดยปกติจะกู้เพื่อจ่ายให้เกษตรกร ต่างจากครั้งนี้ เพราะนิยามที่รัฐบาลกำหนดคือจ่ายเงินให้คนทั่วไปที่มีอายุเกิน 16 ปีและมีรายได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกับเกษตรกร แต่ถ้ารัฐใช้เงิน ธ.ก.ส.จ่ายให้เฉพาะเกษตรกรต้องดูว่าใช้หลักเกณฑ์อย่างไรแยกระหว่างเกษตรกรกับผู้ไม่ใช่เกษตรกร”

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า ธ.ก.ส.เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรภายใต้กรอบ พ.ร.บ.การจัดตั้ง ธ.ก.ส.

ชี้ผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งธนาคาร

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตประธานกรรมการ ธ.ก.ส.ให้สัมภาษณ์รายการเดียวกัน ว่ารัฐบาลนำเงินธ.ก.ส.มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้เพราะไม่เป็นตามข้อกฎหมายและวัตถุประสงค์การตั้งธนาคารที่ให้ผู้รับเงินจาก ธ.ก.ส.คือเกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องเกษตรกร และนำเงินไปใช้เกี่ยวกับเกษตรกรรมหรือสร้างอาชีพซึ่งโครงการนี้ไม่เกี่ยวข้อง

“ต้องไม่ลืมว่า ธ.ก.ส.เป็นธนาคาร ไม่มีสถานะเป็นองค์กรการกุศลไม่ใช่มูลนิธิที่ต้องเทกระจาดเอาเงินมาแจกถึงแม้จะเป็นเงินจากรัฐบาลเพราะไม่ใช่หน้าที่ธ.ก.ส.”

ทั้งนี้หากรัฐบาลยืนยันเดินหน้าซึ่งน่าจะมีรูปแบบเดียว คือ เงินกู้ จะเกิดปัญหาตามมาทันที แม้รัฐบาลอาจบอกว่าให้กู้ไปก่อน พอเงินดิจิทัลวอลเล็ตออก ค่อยเอาเงินมาล้างหนี้หากเป็นแนวทางนี้ถือเป็นนิติกรรมอำพรางที่บิดให้เข้าวัตถุประสงค์ธ.ก.ส.

นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดให้กู้ แม้ผู้รับเงินเป็นเกษตรกรแต่มีเงื่อนไขต้องนำเงินไปใช้ในกิจกรรมการเกษตรหรือพัฒนาอาชีพเสริม แต่การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนำเงินไปใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค และมีเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องมีผู้รับภาระ

บอร์ดต้องรับผิดชอบหากมติขัด กม.

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลให้ ธ.ก.ส.ปล่อยเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอยู่นอกเหนือวัตถุประสงค์ของธนาคาร นอกจากจะผิดหลักนิติธรรมแล้ว ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงคือคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ทั้งหมด แม้จะมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานก็ตาม โดยคณะกรรมการทั้งชุดที่ลงมติในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้อนุญาต จะมีความผิดรายตัว ซึ่งทุกคนจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนการใช้เงินจากงบประมาณปี 2567 อีกจำนวน 175,000 ล้านบาทในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถือว่าผิดหลักธรรมาภิบาลที่ดีและอาจผิดหลักนิติธรรมด้วยเช่นกันเพราะรัฐบาลไม่ได้บรรจุโครงการนี้ไว้ตั้งแต่แรกในขั้นตอนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 หรือหากจะนำงบกลางฯ มาใช้ถือว่าไม่เหมาะสมเช่นกัน เพราะงบกลางฯ ต้องใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ไฟไหม้