'พาณิชย์' ประเมินสงคราม 'อิหร่าน - อิสราเอล' ไม่บานปลาย

'พาณิชย์' ประเมินสงคราม 'อิหร่าน - อิสราเอล' ไม่บานปลาย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมิน สงครามอิหร่าน - อิสราเอล 2 ด้าน หากวงจำกัดไม่กระทบเศรษฐกิจ - โลก แต่หากขยายวงกว้างกระทบการค้าไทยในตะวันออกกลาง  คาดจีนพันธมิตรอิหร่าน เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)  กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมได้ประเมินผลกระทบกรณีสงครามตะวันออกกลางบานปลาย โดยภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่ไทยจะส่งเสริมการค้าส่งออกสินค้าตามนโยบายบุกตลาดใหม่ เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง และมีระยะทางไม่ไกลจากไทยมากนัก รวมถึงมีทัศนคติที่ดีกับสินค้าไทย 

สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางในขณะนี้ ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และอิหร่านกรณียืดเยื้อไว้  2 ด้าน คือ

1. ไม่มีประเทศอื่นเข้าร่วมการสู้รบโดยตรง จะส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย - อิสราเอล และอิหร่านลดน้อยลง แต่ไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกมากนัก เนื่องจากการค้าระหว่างไทย - อิสราเอล และไทย - อิหร่าน มีสัดส่วนมูลค่าการค้าคิดเป็น 0.2% และ 0.03% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก

2. มีประเทศอื่นเข้าร่วมการสู้รบโดยตรง จะส่งผลให้การสู้รบขยายตัวกว้าง และเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางจะผลกระทบต่อการค้าสินค้าไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะการขนส่งสินค้าจะมีอุปสรรคมากกว่าเดิม  เนื่องจากบางเส้นทางอาจใช้ขนส่งสินค้าไม่ได้ และต้นทุนค่าประกันภัย และค่าเสี่ยงภัยจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งสินค้าสูงขึ้นตาม รวมถึงหลายประเทศอาจลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการปกป้องประเทศ เช่น อาหาร ยารักษาโรค อาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป เนื่องจากทะเลแดงอยู่ใกล้คลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญของโลก และช่องแคบฮอร์มุซ เส้นทางขนส่งพลังงานที่สำคัญของโลก หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนไม่สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ จะทำให้การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวได้

ทั้งนี้ กรมฯ ประเมินว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้อาจจะไม่ขยายตัวเป็นวงกว้าง เนื่องจากอิสราเอล และอิหร่านไม่ต้องการให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ เพียงแค่ต้องการตอบโต้ระหว่างกันเพื่อแสดงความเข้มแข็ง และความแข็งกร้าวเท่านั้น โดยเฉพาะอิสราเอลที่ปัจจุบันถูกจับตามองจากนานาชาติ หากเหตุการณ์บานปลายอิสราเอลอาจโดนตัดความช่วยทางการทหารจากประเทศพันธมิตรได้ และประเทศที่มีความขัดแย้งกับอิสราเอลอาจร่วมมือกับอิหร่านโจมตีอิสราเอลได้ ส่วนอิหร่านอาจโดนนานาชาติใช้มาตรการลงโทษทางการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอิหร่านที่อยู่ในภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ จีนซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของอิหร่านอาจเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์