กางไทม์ไลน์พัฒนาระบบ 'ตั๋วร่วม' คาดบังคับใช้ปี 2568
“คมนาคม” เปิดไทม์ไลน์ผลักดันระบบตั๋วร่วม คาดมีผลบังคับใช้ปี 2568 หวังจัดมาตรฐานระบบราง – กำหนดเพดานราคาค่าโดยสาร ยันจำเป็นต้องตั้งกองทุนตั๋วร่วม ชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้า 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี
KEY
POINTS
- คมนาคมเปิดไทม์ไลน์ผลักดัน "ตั๋วร่วม" คาดมีผลบังคับใช้ปี 2568 มั่นใจจัดมาตรฐานระบบราง – กำหนดเพดานราคาค่าโดยสารเพื่อประชาชน
- "สุริยะ" ยันจำเป็นต้องตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม หวังชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เอกชนผู้รับสัมปทาน 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี
- เปิดแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ เงินทุนประเดิมรัฐบาลจัดสรรให้ พร้อมเปิดกว้างเอกชนกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
สถิติการเดินทางด้วยระบบรางช่วงวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีได้ว่าพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนคนไทยได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่นิยมเดินทางด้วยขนส่งทางบก หรือรถยนต์ส่วนตัว ขณะนี้หันมาเดินทางด้วยระบบรางซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ตรงต่อเวลา และสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ครั้งละจำนวนมาก
กระทรวงคมนาคมรวบรวมสถิติการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศในช่วงวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 สะสม 7 วัน ระหว่างวันที่ 11 - 17 เม.ย.2567 มีปริมาณการเดินทางอยู่ที่ 17,541,181 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 7.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 44.69% รองลงมาเป็นระบบขนส่งทางถนน 33.02% ถัดมาเป็นทางอากาศ 12.16% และทางน้ำ 10.13%
ขณะที่กรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงสถิติประชาชนเดินทางด้วยระบบรางในช่วงวันดังกล่าว มีจำนวนรวมกว่า 7.83 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปีที่ผ่านมา 23.20% โดยรถไฟระหว่างเมืองมีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้น 16.65% และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณการเดินทางเพิ่มขึ้น 23.75% สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเลือกใช้ระบบรางเป็นการเดินทางหลักภายในประเทศมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการใช้บริการของประชาชนที่มีต่อระบบรางนั้น กระทรวงคมนาคมจึงอยู่ระหว่างเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในการใช้บริการระบบราง สามารถบริหารจัดการต้นทุน ค่าโดยสาร และมาตรฐานบริการ รวมไปถึงประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการพก “บัตรโดยสารใบเดียว” ในการใช้จ่ายค่าบริการทุกระบบรางในประเทศไทย
โดยปัจจุบันกระทรวงคมนาคม กำหนดขั้นตอนดำเนินการผลักดันระบบตั๋วร่วม ดังนี้
1.ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการะบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....
- เสนอคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) เห็นชอบภายในเดือน เม.ย.2567
- เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน พ.ค.2567
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณาส่ง ครม. ภายในเดือน มิ.ย. - พ.ย. 2567
- ครม. เสนอรัฐสภา พิจารณาภายในเดือน ธ.ค. 2567 - ก.ค. 2568
- ประกาศใช้ พ.ร.บ. ภายในเดือน ส.ค. - ก.ย. 2568
2. ออกประกาศที่เกี่ยวข้อง ภายในเดือน ก.ย. - ธ.ค.2568
3. จัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม
- เสนอกรมบัญชีกลางและคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเพื่อขอจัดตั้งกองทุนในเดือน ม.ค.2567
- จัดตั้งกองทุนภายในเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2568
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วม โดยการผลักดัน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจะมีผลใช้ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบริหาร รวมไปถึงรถไฟฟ้าที่มีสัญญาสัมปทานร่วมกับเอกชน
ดังนั้นก็มีความจำเป็นต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ที่หายไป จากการปรับลดค่าโดยสาร เพื่อไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน กระทรวงฯ ก็อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางนำเงินไปจ่ายชดเชยเอกชน ผ่านการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” โดยเบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินวงเงินที่ใช้หมุนเวียนในกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30 โดยแบ่งเป็น
มาตรา 29 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล
2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม
3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม
ส่วนแหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ มีการกำหนดไว้ใน มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้
3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต
4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน
5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน
6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40
7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน
8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม 2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน