การรถไฟฯ จ่อชง ครม. เดินหน้า 'ไฮสปีดไทยจีน' โคราช - หนองคาย
การรถไฟฯ ลุย “ไฮสปีดไทย - จีน” ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท จ่อเสนอ ครม.เริ่มขั้นตอนประกวดราคาปีหน้า ตั้งเป้าเปิดให้บริการ 2574
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดไทย-จีน) โดยระบุว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา มีความคืบหน้าต่อเนื่อง เหลือรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง และตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2572
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติไอสปีดไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงินรวม 341,351 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท
โดยโครงการไฮสปีดไทย – จีน ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยขั้นตอนภายหลังบอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว จะรายงานไปยังกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคางานก่อสร้างต่อไป
สำหรับแผนงานเบื้องต้น คาดว่าจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ภายในปี 2568 โดยจะแบ่งออกเป็น 13 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาแนวเส้นทาง 11 สัญญา มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อสัญญา เพื่อไม่ให้มีผู้แข่งขันน้อยรายหรือมากรายมากจนเกินไป สัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา และสัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา ส่วนสัญญางานระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล จะรวมเป็น 1 สัญญา
ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างงานโยธา 4 ปี หรือ 48 เดือน โดยการก่อสร้างงานโยธา จะแบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร ทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย เบื้องต้นคาดว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574