‘คมนาคม’ ยกทีมเยือนจีน ถกแผนไฮสปีดเทรน - แลนด์บริดจ์

‘คมนาคม’ ยกทีมเยือนจีน ถกแผนไฮสปีดเทรน - แลนด์บริดจ์

“สุริยะ” เตรียมนำทีมคมนาคมเยือนจีน 7-9 พ.ค.นี้ ประกาศใช้เวทีนี้ปิดฉากโรดโชว์ “แลนด์บริดจ์” ดึงนักลงทุนก่อนเริ่มขั้นตอนประมูลปีหน้า ฟื้นเจรจาระดับรัฐมนตรีกับจีนในรอบ 5 ปี เคลื่อนโครงการไฮสปีดไทย - จีน พร้อมดันระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

KEY

POINTS

  • “สุริยะ” เตรียมนำทีมคมนาคมเยือนจีน 7-9 พ.ค.นี้ ประกาศใช้เวทีนี้ปิดฉากโรดโชว์ “แลนด์บริดจ์” ดึงนักลงทุนก่อนเริ่มขั้นตอนประมูลปีหน้า พร้อมเร่งกำหนดโมเดลธุรกิจ รับสัมปทานบริหาร 50 ปี
  • ฟื้นเจรจาระดับรัฐมนตรีกับจีนในรอบ 5 ปี เคลื่อนโครงการไฮสปีดไทย - จีน พร้อมดันระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย วงเงินลงทุนกว่า 3.4 แสนล้านบาท

“สุริยะ” เตรียมนำทีมคมนาคมเยือนจีน 7-9 พ.ค.นี้ ประกาศใช้เวทีนี้ปิดฉากโรดโชว์ “แลนด์บริดจ์” ดึงนักลงทุนก่อนเริ่มขั้นตอนประมูลปีหน้า ฟื้นเจรจาระดับรัฐมนตรีกับจีนในรอบ 5 ปี เคลื่อนโครงการไฮสปีดไทย - จีน พร้อมดันระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เป็นโครงการเป้าหมายที่รัฐบาลเร่งผลักดัน เพื่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึก 2 จุด คือ 1.ท่าเรือน้ำลึกแหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง 2.ท่าเรือน้ำลึก แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 7-9 พ.ค.2567 จะเดินทางไปเยือนจีน พร้อมกับผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยในช่วงเย็นวันที่ 8 พ.ค.2567 จะใช้โอกาสในการพบปะนักลงทุนจีน เพื่อประชาสัมพันธ์และเชิญชวนร่วมลงทุนในโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) 

สำหรับการเดินทางมาจีนครั้งนี้ จะถือเป็นเวทีสุดท้ายของการโรดโชว์แลนด์บริดจ์ หลังจากนั้นกระทรวงคมนาคมจะเริ่มกระบวนการจัดทำเอกสารเชิญชวนการลงทุนตามเป้าหมาย

รวมทั้งภายหลังโรดโชว์แล้วเสร็จ จะเริ่มดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573

“คมนาคม” เร่งกำหนดโมเดลธุรกิจ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ทั้งการออกแบบเบื้องต้นท่าเรือ รถไฟ และศึกษา EHIA ท่าเรือและ EIA ทางรถไฟ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ อยู่ที่ Business Model

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ประเมินกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพจะเป็นสายเดินเรือ ซึ่งปัจจุบันสายเดินเรือได้รวมกลุ่ม 3 กลุ่มใหญ่ ส่วนแบ่งตลาด 84.6% ของตลาดขนส่งตู้คอนเทนเนอร์โลก ดังนี้

1.กลุ่ม 2M ส่วนแบ่งการตลาด 35.6% ประกอบด้วย MAERSK และ msc 2.กลุ่ม Ocean Alliance ส่วนแบ่งการตลาด 30.3% ประกอบด้วย COSCO SHIPPING ,OOCL ,EVERGREEN และCMA CGM 3.กลุ่มThe Alliance ส่วนแบ่งการตลาด 18.7% ประกอบด้วย Hapag-Lloyd ,YANG MING และ ONE

ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนรับสัญญาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งการโรดโชว์ต่างประเทศที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากนักลงทุนและสายการเดินเรือ 

นอกจากนี้ในเดือน ต.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนจีนเพื่อร่วมประชุม Belt and Road for International Cooperation (BRF) ซึ่งได้มีการโรดโชว์และหารือกับบริษัทจีนเพื่อให้มาร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เช่น บริษัท CHEC บริษัทก่อสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน ที่ดำเนินกิจการในไทยภายใต้บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2537

เปิดเวทีเจรจารถไฟไทย-จีนรอบใหม่

นายสุริยะ กล่าวว่า การเดินทางเยือนจีนครั้งนี้จะร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 ระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เพื่อหารือความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ขณะเดียวกันจะหารือความพร้อมของไทยในการผลักดันระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งออกแบบแล้วเสร็จและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 

รวมทั้งรัฐบาลมีเป้าหมายเร่งผลักดันโครงข่ายรถไฟสายนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประโยชน์การเดินทางและขนส่งสินค้าเชื่อมอาเซียนและจีน เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ One Belt One Road ที่จะสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การเดินทางไปประชุม JC ระดับรัฐมนตรี ในโครงการไฮสปีดไทย-จีนเป็นการฟื้นการเจรจาครั้งแรกรอบ 5 ปี เพราะช่วงรัฐบาลก่อนหน้ามีโควิด -19 ทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้เดินทางร่วมประชุม แต่ประชุมผ่าน Video Conference

สำหรับโครงการไฮสปีดเทรนไทย-จีน อยู่ระหว่างก่อสร้างระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปัจจุบันวันที่ 25 มี.ค.2567 คืบหน้า 32.31% ล่าช้า 28.76% เหลือรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2571

เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติเฟส 2

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา- หนองคาย เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2567 คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.อนุมัติไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงิน 341,351 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท , ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท , ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท 

โครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ได้ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จและรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยหลังจากนี้จะรายงานกระทรวงคมนาคม และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคางานก่อสร้าง

สำหรับแผนงานเบื้องต้นจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ภายในปี 2568 แบ่งเป็นงานโยธา 13 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาแนวเส้นทาง 11 สัญญา มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อสัญญา , สัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา และสัญญาศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา ส่วนสัญญางานระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล จะรวมเป็น 1 สัญญา

ทั้งนี้มีระยะเวลาก่อสร้างงานโยธา 4 ปี หรือ 48 เดือน โดยแบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ 202.48 กิโลเมตร , ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนในพื้นที่ 

รวมทั้งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย เบื้องต้นคาดว่าดำเนินการก่อสร้างเสร็จปี 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574